พม. จับมือ รพ.รามาธิบดี และ สสส. รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ปี 60 “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์”



เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เวลา 10.00 น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2560  ภายใต้แนวคิด “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์” ด้วยคำขวัญ “หยุด! คำร้าย ทำลายครอบครัว” โดยการรณรงค์ให้ครอบครัวและสังคมมีการสื่อสารเชิงบวกเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพจัดงาน ณ บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ

                พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” และจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550  กระทรวง พม. และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศตลอดทั้งเดือน เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำ “ริบบิ้นสีขาว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลที่แสดงออกถึงการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี” มาใช้ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วยเนื่องจากความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในหลายมิติ ของสังคม ส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติและค่านิยมที่เลือกปฏิบัติโดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่ยังมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

                พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นการใช้วาจา ที่ไม่เหมาะสมระหว่างบุคคลในครอบครัว และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของครอบครัว และต่อสุขภาพกายและจิตของบุคคลในครอบครัว จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นรอบครัวด้วยการสื่อสารเชิงบวกต่อกันให้เกียรติกันทั้งทางกายและวาจา จะช่วยลดการเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ เพราะการสื่อสารระหว่างกันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีในการทำให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น  และการสื่อสารในเชิงให้กำลังใจจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มีความผูกพันรักใคร่ และครอบครัวมีความเข้มแข็งกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวง พม. โดย สค. ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็น 10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย 1) เหนื่อยไหม 2) รักนะ 3) มีอะไรให้ช่วยไหม 4) คำชมเชย (เก่ง/ดี/เยี่ยม) 5) ไม่เป็นไรน่ะ 6) สู้ๆ นะ 7) ทำได้อยู่แล้ว