รมว.พม. กล่าวถ้อยแถลงพร้อมขับเคลื่อนงานพัฒนาศักยภาพสตรีในทุกระดับ เพื่อคุ้มครองทางสังคมแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง ในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี (AMMW) ครั้งที่ 3 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม



เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 61 ณ โรงแรมเชอราตัน ฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย พร้อมด้วย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และคณะ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 3 (ASEAN Ministerial Meeting on Women – AMMW) พร้อมกล่าวถ้อยแถลงการณ์การดำเนินงานของประเทศไทย ในหัวข้อ “การคุ้มครองทางสังคมแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง” (Exchange of views on the theme social protection for women and girls)

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2561 โดยมี นายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ

มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ โดยได้มีโอกาสเดินทางไปยังสภาแห่งชาติเวียดนาม เพื่อคารวะ นางเหงียนถิ กึม เงิน ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม (Vietnamese President of Parliament) และรับฟังการนำเสนอเกี่ยวกับบทบาทสตรีทางการเมืองของเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนการดำรงตำแหน่งในสภาของสตรี ถึง 30%

พลเอก อนันตพร กล่าวว่า สถานภาพของผู้หญิงในประเทศไทยมีพัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อัตราการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2560 ผู้หญิงมีบทบาทในตำแหน่งผู้บริหารในภาคเอกชนถึงร้อยละ 42 อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงยังประสบปัญหาในเรื่องต่างๆ เช่น ความรุนแรงในครอบครัวการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

ดังนั้น การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการคุ้มครองทางสังคมเป็นเรื่องที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ด้วยการผลักดันกฎหมาย รวมทั้งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งคุ้มครองสิทธิทั้งผู้หญิง และผู้ชาย รวมถึงผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศรับผิดชอบในการพิจารณาข้อร้องเรียน และการเยียวยาผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยมีการจัดตั้งกองทุนความเท่าเทียมระหว่างเพศขึ้น อีกทั้ง ในประเด็นเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง มีศูนย์ช่วยเหลือสังคม ซึ่งให้ความช่วยเหลือในเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมทั้งคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศที่และประสบปัญหาสังคม

สามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากผู้หญิงและเด็กหญิงแล้ว ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความรุนแรงในทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส จึงมีการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทุกระดับ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ชายและเด็กชายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเสริมพลังผู้หญิง คู่สมรสที่ต่างเชื้อชาติที่อาจมีปัญหาทางสังคมจากการปรับตัวเป็นกลุ่มใหม่ที่สามารถขอรับความช่วยเหลือและคำปรึกษาจากศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั้ง 8 แห่ง

พลเอก อนันตพร กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจสำหรับผู้หญิงประเทศไทยได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งกองทุนดังกล่าวช่วยให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยผู้หญิงชนบทได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้เป็นลำดับแรก พบว่า มีผู้หญิง 915,150 คน ได้รับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อฝึกทักษะอาชีพ และผู้หญิง 639,099 คน ได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อก่อตั้งธุรกิจของตน

และในปีนี้ รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ภายใต้วงเงินรวมกว่า 78,000 ล้านบาท แก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) 23 แห่ง และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs 270 แห่งทั่วประเทศ อีกทั้งพี่เลี้ยงบ่มเพาะ SMEs สู่ตลาดโลก (Big brother) ซึ่งเป็นการให้ธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งผู้หญิงที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแนวคิดจะเพิ่มสิทธิวันลาคลอดบุตรให้ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์ จาก 90 วัน เป็น 98 วัน ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และพยายามผลักดันให้ภาคเอกชนส่งเสริมการลาของพ่อ-แม่ เพื่อเลี้ยงดูบุตร และประเทศไทยได้ริเริ่มการให้เงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิด เมื่อปี 2558 โดยให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวยากจนที่มีเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เดือนละ 600 บาท ซึ่งมาตรการนี้ได้รับการยอมรับว่า เป็นความพยายามในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสจากการถูกกีดกัน และสนับสนุนให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ในช่วงแรกของชีวิต นับเป็นการลงทุนระยะยาวที่จะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ ปี 2548 ส่งผลให้รัฐบาลได้ริเริ่มการดูแลผู้สูงอายุ โดยอาสาสมัครใน 44 ชุมชน ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้สามารถได้รับการดูแลตอบแทนตามเวลาที่สะสมไว้ในอนาคต ทำให้ผู้สูงอายุสตรีจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้เป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการมีอายุขัยที่ยืนยาวกว่า “ประเทศไทยให้ความสำคัญและจะผลักดันมาตรการคุ้มครองทางสังคมแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศอื่น ๆ ตลอดจนความร่วมมือในคณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน และหุ้นส่วนใหม่จากทุกระดับ เพื่อให้การหารือร่วมในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 3 ไปสู่ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น” พลเอก อนันตพร กล่าวในตอนท้าย