กรมการท่องเที่ยวร่วมสืบสานประเพณี“ใส่ขันดอก อินทขีล”โชว์ความเป็นล้านนา สอดรับนโยบายรัฐปีท่องเที่ยววิถีไทย



           จากการที่รัฐบาลมีนโยบายกำหนดให้ปี 2558 เป็น “ปีท่องเที่ยววิถีไทย” (2015 DISCOVER THAINESS) เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์จากงาน ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ตามท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ให้คนไทยได้เกิดความรัก ความสามัคคี ความเป็นมิตรไมตรีตามแบบฉบับวิถีของคนไทยออกไปสู่สายตาประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศ รวมไปถึงชาวต่างชาติให้ได้มีโอกาสรับรู้และเห็นถึงอารยธรรมการดำเนินชีวิตภายใต้ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีวิถีไทย เพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่นให้ยังคงสืบไปอีกยาวนาน

           โดยประเพณี“ใส่ขันดอก อินทขีล” ณ วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นหนึ่งในหลายประเพณีไทยล้านนา ที่มีการนำเสนอเรื่องราวอีกประเพณีที่สืบทอดกันมาจากความเชื่อความศรัทธา ในเรื่องของการบูชาสักการะเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์อยู่ดีกินดี เกิดความความสุขในทุกๆ ด้านแก่ประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมายาวนานแต่โบราณกาล ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงจะต้องสืบทอดและอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป

           กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า บทบาทของกรมการท่องเที่ยวในการสืบสานและอนุรักษ์งานประเพณี“ใส่ขันดอก อินทขีล” สืบเนื่องมาจากในปี 2558 นี้ รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการท่องเที่ยวด้วยการกำหนดให้เป็น “ปีท่องเที่ยววิถีไทย” (2015DISCOVER THAINESS) เพื่อสร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ในการดำเนินชีวิตตามแบบฉบับวิถีของคนไทย ทั้งในด้านความรัก ความสามัคคี ความปลอดภัยที่แสดงออกมาให้เห็นถึงความเป็นมิตรไมตรี ความรื่นเริง ความเป็นอยู่ และความเป็นเจ้าบ้านที่ดี อันเป็นเสน่ห์ของคนไทย ที่ยากจะประเทศไทยในโลกนี้เหมือน

         โดยการส่งเสริมสนับสนุนการจัดงานประเพณี“ใส่ขันดอก อินทขีล” ดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งในภารกิจของกรมการท่องเที่ยว ที่จะต้องร่วมสนับสนุนสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไปอย่างยั่งยืน ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลกับการเป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเพณีดังกล่าวเกิดความเชื่อมโยงกันในแต่ละท้องถิ่น ภายใต้เป้าหมายและนโยบายในการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในชุมชนแต่ละจังหวัดให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 28ล้านคน ซึ่งยอดนักท่องเที่ยวในขณะนี้เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มถึง 24%โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น เป็นนักท่องเที่ยวจาก สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศมาเลเซีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี รัสเซีย และประเทศในแถบยุโรป เป็นต้น

          นอกจากบทบาทหลักๆ ในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว การร่วมจัดงานประเพณีต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ที่โฟกัสไปที่งานศิลปวัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ อีกบทบาทสำคัญของกรมการท่องเที่ยวก็คือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยว การส่งเสริมบริการสินค้าในท้องถิ่น และการพัฒนาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หรือธุรกิจนำเที่ยว และการจัดระเบียบเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย เพื่อเป็นสื่อเผยแพร่ออกไปให้คนทั่วโลกได้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในหลายแง่มุม สุดท้ายก็คือการพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่นในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

          สำหรับงานสืบสานประเพณี“ใส่ขันดอก อินทขีล” ในปีนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีความสุขภายใต้วิถีไทยอย่างแท้จริง โดยการเปิดงานในวันแรกก็มีประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาสักการบูชาเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมืองกันอย่างเนืองแน่น อย่างไรก็ตามสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยที่มาเที่ยวยังจังหวัดเชียงใหม่ ก็สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวชมงาน โดยภายในงานนอกจากจะได้สักการะเสาหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้ว ยังได้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนล้านนาที่สืบทอดกันมาผ่านงานศิลปะ ที่บ่งบอกถึงความเป็นอายรธรรมล้านนาอีกมากมาย อาทิ การทำร่ม ศิลปะการปั้นคนโท ศิลปะเครื่องเขิน ศิลปะการทำโคมยี่เป็ง เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังจะมีอาหารล้านนาเลื่องชื่อไว้ให้ชิม ช็อป กันตามอัธยาศัย ในช่วงระหว่างวันที่14-21 พฤษภาคม 2558 นี้

          ด้านนายสลา ศรีสุวรรณ ชายวัย 50 ปี ชาวล้านนาชาติพันธุ์ไทใหญ่ ที่สืบทอดการทำคนโทน้ำดื่มมาจากบรรพบุรุษเมื่อ 30 ปีก่อน เล่าถึงการสืบสานงานศิลปะปั้นคนโท ให้ฟังว่า งานปั้นเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนไทย โดยงานปั้นคนโทน หรือ (น้ำต้น) นอกจากเป็นงานปั้นที่บ่งบอกถึงอารยธรรมการดำเนินชีวิต วิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งคนไทยในยุคปัจจุบันหรือเด็กรุ่นใหม่อาจไม่ทราบหรือไม่เข้าใจกับสิ่งนี้ ว่ามีความสำคัญกับคนไทยอย่างไร โดยเฉพาะคนไทยล้านนาที่มีความผูกพันกับภาชนะชนิดนี้เสมอมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

          เดิมทีคนโทถูกวางบทบาทให้เป็นภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับใส่น้ำดื่ม และมีจุดเด่นคือช่วยให้น้ำเย็นกว่าน้ำที่อยู่ในภาชนะอื่นๆ 4-5องศาเซลเซียส เนื่องจากในสมัยโบราณ วิวัฒนาการทางด้านสิ่งอำนวยความสะดวกยังมีน้อย จึงทำให้คนโทเป็นภาชนะใส่น้ำดื่มที่สำคัญของคนไทยจวบจนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีการใช้อยู่แต่ความนิยมในการใช้นั้นไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยทางภาคเหนือ แต่ทั้งนี้คนโทไม่เพียงเป็นแค่ภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่มเท่านั้น คนโทยังเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีกรรมอันเป็นมงคลต่างๆ อีกด้วย จึงทำให้แม้ว่าปัจจุบันความนิยมในการใช้ในชีวิตประจำวันจะลดน้อยลง แต่ในด้านการใช้ในงานประเพณีวัฒนธรรม คนโท ยังคงเป็นหนึ่งในหลายภาชนะที่มีการใช้ในงานประเพณีต่างๆ สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงได้เปลี่ยนบทบาทมาจากเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาสู่ผลงานศิลปะสำหรับตกแต่งบ้านในยุคปัจจุบัน

         “ปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามาแทนที่เครื่องใช้ที่เป็นภูมิปัญญาไทย จึงทำให้คนโทเคลื่อนตัวเองมาสู่งานปั้นศิลปะสำหรับตกแต่งบ้าน แทนที่การใช้งานเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่ม แต่ในด้านของการใช้งานในพิธีกรรม หรือประเพณีต่างๆ ยังคงมีให้เห็นอยู่โดยไม่เสื่อมหายไปไหน จึงแสดงให้เห็นว่างานศิลปกรรมล้านนาในยุคหลังอย่างคนโท เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยล้านนาโดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และแม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้สืบทอดวิชาการการปั้นคนโท หรือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับคนโทในประเทศไทยน้อยมากเพียงไม่กี่คน แต่เสน่ห์ของอารยธรรมนี้ เมื่อถูกนำเสนอให้ถูกที่ถูกทางก็ทำให้ความสำคัญของมันยังคงอยู่คู่กับคนไทยไปได้อีกนาน ถึงแม้ว่าในอนาคตจะไม่มีผู้สืบทอดหรือเกิดการสูญหายในวิชาชีพนี้ซึ่งเป็นไปตามวิถีแห่งการดับสิ้น หรือความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ ก็ตาม ตนก็เชื่อว่า “คนโท”จะยังคงทิ้งคำว่า “คุณค่า” ไว้ให้จดจำตลอดไปแน่นอน”

         อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสถึงศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการปั้นคนโท การทำร่ม การทำโคมยี่เป็งฯ ในงาน “ใส่ขันดอก อินทขีล” ได้หยิบยกเอางานศิลปะอันทรงคุณค่าที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยล้านนามาจัดแสดงให้คนรุ่นใหม่ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ชื่นชมกัน โดยสามารถเดินทางมาเที่ยวชมงาน พร้อมกับสักการะเสาหลักเมืองเชียงใหม่ และชื่นชมศิลปวัฒนธรรมกันได้ในช่วงระหว่างวันที่ 14-21 พฤษภาคม 2558 นี้