กสทช. ร่วมมือ กระทรวง MIC ประเทศญี่ปุ่น จัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ของกลุ่มประเทศอาเซียน



       สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ Ministry of Internal Affairs and Communications (MIC) ประเทศญี่ปุ่น จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติในหัวข้อสำคัญ “ASEAN-Japan Information Security Workshop for ISPs 2016 in Bangkok” ระหว่างวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2559 ณ โรงแรม เดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ

       นายนทชาติ จินตกานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. กับ MIC ประเทศญี่ปุ่น ในการเตรียมการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมกัน ซึ่งการประชุมฯ ดังกล่าวนี้ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในหลากหลายประเทศ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ก่อนจะส่งต่อมาที่ประเทศไทยในปีนี้ ซึ่งนอกจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากตัวแทนของหน่วยงานด้านกิจการโทรคมนาคมทั้งภาครัฐและเอกชนของกลุ่มประเทศอาเซียน เข้าร่วมการประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ทั้ง กัมพูชา อินโดนีเชีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ ลาว บรูไน และ เมียนมาร์

      “นับเป็นโอกาสที่ดีและเป็นเกียรติที่สำนักงาน กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมของประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบันการโจมตีข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ทางไซเบอร์นั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เวทีการประชุมฯ ในครั้งนี้ จะเป็นการเข้ามารับฟังสถานการณ์ในปัจจุบันว่าในแต่ละประเทศของกลุ่มอาเซียนนั้นมีการเตรียมการรับมืออย่างไร รวมทั้งปัญหาที่ประสบพบเจอในปัจจุบัน พร้อมทั้งวิธีรับมือกับปัญหา ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากเวทีการประชุมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือต่อกันในการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์การแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการประชุมฯ ที่ส่งเสริมให้มีการบรรลุการทำงานร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์” นายนทชาติ กล่าว

     สำหรับเนื้อหาในการประชุมเชิงปฏิบัติการในปีนี้ ได้แบ่งออกเป็นสองประเด็นหลัก ประกอบด้วยวันที่ 15 ธันวาคม 2559 เป็นการนำเสนอตัวอย่างสถานการณ์และปัญหาจากประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น ที่จะแบ่งปันกรณีศึกษาจากสถานการณ์ปัจจุบันด้าน Cybersecurity และมีการอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกันด้าน Cybersecurity ระหว่างกลุ่มชาติอาเซียนและญี่ปุ่น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในองค์รวมต่อการแก้ปัญหาของทุกประเทศ

       วันที่ 16 ธันวาคม 2559 เป็นการอภิปรายร่วมกันในหัวข้อ "การโจมตีทางไซเบอร์ภาคปฏิบัติ" โดยจะร่วมกันถกประเด็นปัญหาเพื่อนำไปสู่การดำเนินการที่จะแก้ไขปัญหาการโจมตีไซเบอร์ รวมถึงแบ่งปันแนวคิดและวิธีการในการตอบโต้ต่อการโจมตีไซเบอร์ พร้อมทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยต่อกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น