ก.ล.ต. จับมือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หนุนความร่วมมือบริษัทจดทะเบียน



    ก.ล.ต. จับมือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หนุนความร่วมมือบริษัทจดทะเบียนเปิดเผยรายจ่ายวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีเพื่อสะท้อนศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของเอกชนในประเทศ

จากการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อกระตุ้นและจูงใจให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการลงทุนวิจัยและพัฒนาไม่น้อยกว่า 1% ของ GDP โดยมีสัดส่วนเอกชนลงทุนวิจัยฯ 70%  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอการสนับสนุนและความร่วมมือบริษัทจดทะเบียนให้พิจารณาการเปิดเผยรายจ่ายการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ที่ยื่นต่อ ก.ล.ต. ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

    นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (RDI) จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลรายจ่าย RDI นอกจากช่วยสะท้อนศักยภาพและมูลค่าของบริษัทได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ภาครัฐสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภาคเอกชน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนในภาพรวมได้อีกด้วย

       ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น ประเทศต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven) เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขัน และเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนภาคเอกชนมากขึ้น โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้วยการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่าย RDI จาก 200% เป็น 300% ซึ่งจากการสำรวจล่าสุด ในปี 2557 ประเทศไทยมีการลงทุนวิจัยและพัฒนา เพียง 0.48% ของ GDP และมีสัดส่วนการลงทุนของเอกชน 54% จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ภายปี 2559 ที่ระดับ 1% ของ GDP และสัดส่วนการลงทุนของเอกชนที่ 70% ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวมีรายจ่ายเพื่อการลงทุนวิจัยและพัฒนา เพียง 10% เท่านั้นที่ขอการรับรองเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีฯ ถือว่ายังมีรายจ่ายจากการวิจัยของบริษัทเอกชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนมาใช้สิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนให้เต็มที่ เพื่อที่บริษัทจะได้นำเงินภาษีที่ประหยัดได้กลับไปหมุนเวียนทำวิจัยเพิ่มขึ้นในปีต่อไป อันจะช่วยให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนา 1% ได้เร็วขึ้น

นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี ภาครัฐจะดำเนินมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยเพื่อกระตุ้นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน โดยภาครัฐต้องการข้อมูลที่แม่นยำและเพียงพอที่จะออกแบบมาตรการต่างๆ จึงขอการสนับสนุนและความร่วมมือให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยรายจ่าย RDI ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 300% โดยบริษัทจะมีแนวทางการสำรวจและจัดทำข้อมูลรายจ่าย RDI ได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ และการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน เพราะข้อมูลการลงทุน RDI สามารถสะท้อนศักยภาพและความสามารถของบริษัท เพื่อให้นักลงทุนรับทราบถึงการพัฒนาธุรกิจด้วย RDI และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จะนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับข้อมูลจากการสำรวจค่าใช้จ่าย RDI ของภาคเอกชนโดยแบบสอบถาม เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงาน รวมทั้งเสนอมาตรการต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น หากบริษัทมีความพร้อมในการจัดเก็บข้อมูลรายจ่าย RDI แล้ว และต้องการนำรายจ่ายดังกล่าวมาขอยกเว้นภาษี บริษัทสามารถยื่นขอรับรองโครงการวิจัยกับ สวทช. ผ่านทางเว็บไซต์  www.rdconline.nstda.or.th ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลและตรวจสอบติดตามผล หลังจากนั้น บริษัทสามารถนำผลการรับรองจาก สวทช. ไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอลดหย่อนภาษีฯ จากกรมสรรพากรได้ต่อไป