อภัยภูเบศร ผุด ห้องสมุดมีชีวิต บ่มคน ปั้นเมืองสมุนไพร



มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ฯ ร่วมกับ สำนักงาน ททท.นครนายก ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปราจีนบุรี สมาคมท่องเที่ยวจังหวัดปราจีนบุรี และเทศบาลเมืองปราจีนบุรี เปิดบ้านเล่าเรื่องเมืองสมุนไพรปราจีนบุรี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองปราจีนบุรี โดยจัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมือง คน วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงสมุนไพรที่คนปราจีนบุรีให้การดูแลสุขภาพมาอย่างยาวนาน

                ที่บ้านเล่าเรื่องแห่งนี้ ไม่มีเฉพาะแต่จัดแสดงเอกสาร ข้าวของเครื่องใช้และสวนสมุนไพร เท่านั้น แต่บ้านหลังนี้ยังเป็นพื้นที่ของชุมชน สำหรับสื่อสารและบอกเล่าเรื่องราวของคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ โดยมีสมุนไพรเป็นที่ยึดโยงผู้คนในชุมชนให้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

                นพ.จรัญ บุญฤทธิการ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า ก่อนจะมาเป็นบ้านเล่าเรื่องเมืองสมุนไพร บ้านหลังนี้ทางมูลนิธิฯ ได้รับอนุญาตจาก ทพ.ทศพล เปี่ยมสมบูรณ์ เจ้าของบ้าน ให้ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นเวลา 10 ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะบ้านหลังนี้อยู่ใจกลางเมือง ใกล้โรงเรียนหลายแห่ง น่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะที่จะทำงานกับเยาวชน

                ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรีได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองสมุนไพร 1 ใน 4 ประเทศ เมื่อได้รับโจทย์มา สิ่งแรกที่คิดคือ พัฒนาคน การจะเป็นเมืองสมุนไพรได้ คนในเมืองต้องกินต้องใช้สมุนไพรให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษของเราใช้กันมานานแล้ว จากการทำงานร่วมกับชุมชนมามากกว่า 10 ปี ทำให้เรามีเรื่องราวมากมายของเมืองปราจีนบุรี

                การสร้างให้เยาวชนรับรู้ เรื่องราวการใช้สมุนไพรของบรรพบุรุษคงไม่เพียงพอ แต่เราต้องสร้างให้เขามีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอน ได้เห็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมที่คนรุ่นเก่าได้เก็บไว้ และพร้อมจะนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคม ให้สมกับยุค ไทยแลนด์ 4.0

                ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ ฯ กล่าวว่า เรามีความตั้งใจที่จะให้บ้านหลังนี้เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ เยาวชน สร้าง 4 ส หล่อหลอม บ่มเพาะคนเพื่อความเป็นเมืองสมุนไพร ได้แก่ 1.สร้างความรู้ ที่บ้านเล่าเรื่องจะมี สวนสมุนไพรหน้าบ้าน นิทรรศการเรื่องเมืองเก่า มีการอบรมฝึกปฏิบัติการต่าง ๆ  2. สร้างประสบการณ์ให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสมุนไพรว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวคือการได้เปิดประสบการณ์ด้วยตัวเอง ทั้งการได้กิน ได้ชิม ได้ลองทำ อาหารและเครื่องดื่มสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสระผม 3. สร้างแรงบันดาลใจ โดยมีศิลปะที่รายล้อมและชีวิตของคนต้นเรื่องจะช่วยปลุกใจ เติมความหวังและไฟฝัน และ 4 สร้างความรื่นรมย์ โดยมีเงาไม้ที่ร่วมเย็น เสียงนกร้อง ความสงบของบ้าน แสงสีที่ละมุนตา ทำให้อารมณ์สงบเย็น สร้างความสุขทุกครั้งที่มาเยือน

               การพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตนี้เราคาดว่าเยาวชนรุ่นใหม่ จะมีพื้นที่เรียนรู้ ทำให้ตระหนักและเห็นคุณค่าของพืชพรรณ สมุนไพร ต้นแบบของภูมิปัญญา รักเมืองปราจีนและเสียสละแก่สังคมเช่นบรรพบุรุษ

ผู้สนใจเรื่องราวของบ้านแห่งนี้ได้ที่ www.facebook.com/banlaoreug

โทร.098-2540365