ซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. ร่วมหนุน ก.ล.ต. และพันธมิตรโครงการ Fintech Challenge ได้ 3 ทีมชนะประกวด



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ได้ให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต. ธนาคารแห่งประเทศไทย คปภ. และหน่วยงานอื่นๆ ในการดำเนินโครงการ Fintech Challenge หรือการประกวดผลงานนวัตกรรมฟินเทค เพื่อส่งเสริมความรู้และการพัฒนาด้านฟินเทค แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพ กว่า 9 เดือนในการดำเนินโครงการ ล่าสุดได้ทีมชนะเลิศแล้วจากการพิชชิ่งนำเสนอผลงานนวัตกรรมรอบสุดท้ายทั้ง 10 ทีม โดยรางวัล Rising Star Fintech ได้แก่ ทีม C3Finance :  infrastructure สำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ขณะที่ รางวัล Innovative Fintech ได้แก่ ทีม PrivateChain : ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน และรางวัล Popular Vote ได้แก่ ทีมสานฝัน : ตัวกลางระดมทุน ให้ความรู้เพื่อให้เกษตรกรบริหารจัดการได้ดีขึ้น โดยมี คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ร่วมด้วย คุณสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และคุณสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. เป็นผู้มอบรางวัลแก่ทีมที่ชนะเลิศแต่ละประเภทตามลำดับ

นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างพันธมิตรโครงการ ว่า “ซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. มีการดำเนินการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไอซีทีจนเกิดกระบวนการและความเชี่ยวชาญ ทำให้เกิดโครงการที่นำเอากระบวนการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาใช้ในการผลักดันให้คนรุ่นใหม่ ให้นำความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีไปสร้างนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โดย สวทช. มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับ ก.ล.ต. ธนาคารแห่งประเทศไทย คปภ. และพันธมิตรอื่นๆ ในการนำประสบการณ์และกระบวนการมาใช้ในการริเริ่มวางแผนและดำเนินโครงการ Fintech Challenge เพื่อร่วมส่งเสริมความรู้และการพัฒนาด้านฟินเทค แก่นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้สนใจทั่วไป ที่มีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัย จากวันนั้นจวบถึงวันนี้ ใช้เวลาร่วมกว่า 9 เดือนแล้วในการดำเนินโครงการ ซึ่งบ่งบอกถึงความแน่วแน่ในการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพของไทย ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมการเงินและประเทศชาติ รวมทั้งสร้างจุดแข็งหรือขีดความสามารถทางการแข่งขันในด้านตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดประกันภัยของไทย ให้สามารถทัดเทียมหรือแข่งขันได้ในระดับนานาชาติต่อไป”

“โครงการ FinTech Challenge นับเป็นโครงการที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เป็นโครงการความร่วมมือที่นำเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน มาช่วยกันผลักดันให้คนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีหรือฟินเทจสตาร์ทอัพ สามารถพัฒนาธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของยุค Business Digital Transformation ที่ทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลแบบพกพาต่างๆ ซึ่งจะส่งต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งในด้านเทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้ใช้ เรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เขย่าวงการได้ทุกวงการ และในขณะเดียวกันยังสร้างโอกาสให้กับคนที่สามารถคิดค้นอะไรใหม่ๆ สามารถต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้สูงสุดได้อย่างมากเช่นกัน ทั้งนี้ โครงการ FinTech Challenge ได้เกิดความเรียนรู้ทั้งผู้ดูแลกฎเกณฑ์และบริษัทธุรกิจที่เกิดใหม่ เพื่อสร้างเสริมให้เศรษฐกิจประเทศไทยมีความเข้มแข็งและแข็งแรง แข่งขันกับนานาชาติได้”

สำหรับผลการประกวดผลงานนวัตกรรมฟินเทคในรอบสุดท้าย ปรากฎว่า ทุนสนับสนุนนวัตกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 3 รางวัล แก่ทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่

1. ทุนนวัตกรรมประเภท Rising Star FinTech จำนวน 100,000 บาท 1 ทุน สำหรับสินค้า/บริการ/ต้นแบบ (prototype)/แนวคิดที่จัดทำได้ดีพร้อมต่อยอด ได้แก่ ทีม C3Finance

บริการโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) สำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งมีความปลอดภัยสูงสุด โดยการแปลงข้อมูลธุรกรรมเป็นโค้ดเข้าระบบ ช่วยให้สถาบันการเงิน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถดึงข้อมูลต่างๆ มาใช้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ช่วยให้ผู้กำกับดูแลกิจการ (Regulator) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน เช่น ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

2. ทุนนวัตกรรมประเภท Innovative FinTech จำนวน 100,000 บาท 1 ทุน สำหรับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการในวงกว้าง ได้แก่ ทีม PrivateChain

บริการระบบซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) โดย PrivateChain จะทำหน้าที่เสมือนตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสื่อกลางระหว่างนักลงทุนกับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการระดมทุน ซึ่งนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนกลับไปเป็นทางลัดให้นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นจากเจ้าของกิจการต่างๆ ได้บนแพลตฟอร์มนี้ โดยไม่ต้องเสียเวลาซื้อขายหลายวันอย่างที่เคยเป็น และไม่ต้องผ่านโบรกเกอร์ โดยบริษัทนอกตลาด (private-equity) ยังสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้อีกด้วย 

3.ทุนนวัตกรรมประเภท Popular Vote จำนวน 50,000 บาท 1 ทุน พิจารณาจากทีมที่ผลงานได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ ทีมสานฝัน

บริการในการเป็นตัวกลางระดมทุน/ให้ความรู้เพื่อให้เกษตรกรบริหารจัดการได้ดีขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอจดทะเบียนเป็นมูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดรับบริจาคเงินผ่านระบบบล็อกเชน (Blockchain) โดยเงินบริจาคจะไม่นำไปให้เกษตรกรโดยตรง แต่จะนำไปซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์การเกษตรและการจัดอบรมต่างๆ ให้กับเกษตรกรแทน พร้อมทั้งให้ข้อมูลกับเกษตรกรในการบริหารจัดการเงินลงทุน การเพาะปลูก หรือการทำการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต   ทั้งนี้ ผู้บริจาคสามารถติดตามได้ว่าเงินบริจาคของตัวเองถูกนำไปใช้อะไรบ้างผ่าน Blockchain