iTAP –สวทช.จับมือ ธ.ก.ส. หนุนกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม ยกระดับการผลิตสินค้า ด้วย วทน.



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (สสว.) กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จัดเสวนา การขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อกระตุ้น สนับสนุน และสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม หันมาประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)

                ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้านการเกษตร สามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรได้หลากหลาย ทั้งพืชและสัตว์ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

                ทั้งนี้การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ยังมีข้อจำกัดในส่วนของคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบ รวมถึงปัญหาด้านความพร้อมของเอสเอ็มอี เช่น การขาดแคลนแรงงานระดับล่าง และองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ต้นทุนการผลิตมีมูลค่าสูง แต่มูลค่าสินค้าเกษตรต่อหน่วยอยู่ในระดับที่ต่ำ เพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการยกระดับสินค้า ด้วย วทน. โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร จัดสัมมนา “การขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโยลยีและนวัตกรรม” เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องตลอดช่วงห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการนำผลงานวิจัยมาตอบโจทย์เกษตรอุตสาหกรรม  โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าเยี่ยมผู้ประกอบการเพื่อสนับสนุนและวินิจฉัยปัญหา และเข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายของ ITAP – สวทช.เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

                นายชวลินทร์ สายหล้า ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม Agro-Industry 4.0  ธ.ก.ส.มีแผนสนับสนุน SME เกษตรที่เข้าร่วม โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร นอกเหนือจากการให้สินเชื่อ เช่น การให้ความรู้ที่จำเป็นและการเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สสว. และ สวทช. รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกรรายคน ที่ทำการผลิตเกษตรต้นน้ำ ให้เป็นเกษตรกรทันสมัย ต่อยอดผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งต่อคุณค่าสู่ผู้บริโภค ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้ตั้งสถาบันบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพื่อทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานสถาบันต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านความรู้ การวิจัย นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตร จนถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ต่อไป