ชมรมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยเผยปัญหาภาวะเด็กเตี้ยในสังคมไทย



ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา ประธานชมรมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยและกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม  สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในงาน Growth Day  ครั้งที่ 1 สูงสมวัย: เคล็ด(ไม่)ลับ ว่า สืบเนื่องจากปัจจุบัน พ่อแม่มีความสนใจถึงความสูงของลูก ดังนั้น“โรคเด็กเตี้ยผิดปกติหรือภาวะขาดฮอร์โมนเติบโต” จึงเป็นเรื่องที่สังคมอยากรู้และหาวิธีรักษา โดยเด็กที่มีภาวะตัวเตี้ยหรือเจริญเติบโตช้า พบอยู่ประมาณร้อยละ 1-5  หรือเทียบเท่ากับจำนวนเด็ก 100 คนจะพบเด็กที่ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์อยู่ประมาณ 1-5 คน  ซึ่งจากปัจจัยหลายอย่างที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่าง ๆ ของรัฐ หรือผู้ปกครองไม่ทราบว่าลูกหลานของตนเองป่วยเป็นโรคนี้อยู่ จึงไม่พามารับการรักษา  ทั้ง ๆ ที่ภาครัฐเองก็พร้อมที่จะให้บริการอยู่แล้ว

              นอกจากนี้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก ได้นำเสนอในรูปแบบการโฆษณาเรื่องของการเพิ่มความสูงในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการยืดกระดูก การรับประทานอาหารเสริมสำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ เช่น นม แคปซูลอาหารเสริมราคาแพงหรือการฝังเข็มเพื่อเพิ่มความสูง สิ่งเหล่านี้ทำให้มีผู้ปกครองและผู้ป่วยเกิดความเข้าใจผิดและหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากโดยไม่ได้ผลจริง  ชมรมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย จึงต้องการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนในเรื่องดังกล่าว

              ศ.นพ.พัฒน์ กล่าวว่า ความเตี้ยของคนเราเกี่ยวข้องกับ 2 สาเหตุหลัก คือ 1. ภาวะเตี้ยที่ตรวจพบพยาธิสภาพ มีสาเหตุต่าง ๆ  มากมาย   บางรายอาจมีเพียงสาเหตุเดียว   บางรายอาจมีหลายสาเหตุรวมกัน เนื่องจากการเจริญเติบโตของร่างกายเป็นผลรวมของปัจจัยต่าง ๆ  ร่วมกัน (Integrated Effects)  ได้แก่  พันธุกรรม อาหาร ฮอร์โมน สุขภาพกาย สุขภาพใจและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  ดังนั้นความผิดปกติหรือความไม่สมดุลของปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ทำให้การเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ตามศักยภาพของพันธุกรรม  2. ภาวะเตี้ยที่ไม่ทราบสาเหตุหรือเตี้ยตามพันธุกรรม  พบได้บ่อย มี 2 ชนิดคือ 1. ภาวะเป็นหนุ่มสาวช้า เป็นภาวะปกติคือเด็กเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาวช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป  โดยที่สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนสำคัญในการกำหนดจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาวและมักจะมีประวัติครอบครัวว่าบิดาหรือมารดาเป็นหนุ่มสาวช้ากว่าปกติ   หรือมารดามักมีประจำเดือนครั้งแรกช้า (อายุ 14-18 ปี) หรือบิดาเมื่อเป็นเด็กมักตัวเล็กกว่าเพื่อน ๆ เริ่มโตเร็วเมื่อเรียนชั้นมัธยมปลาย และมีความสูงสุดท้ายปกติ  และ 2. ภาวะเตี้ยตามพันธุกรรมหรือไม่ทราบสาเหตุ พบได้บ่อย ส่วนมากมักมีพ่อหรือแม่เตี้ย หรือถ้าเตี้ยทั้งพ่อและแม่รวมทั้งปู่ย่าตายายเตี้ยด้วย ก็ชัดเจนมากขึ้นว่าเตี้ยจากพันธุกรรม กรณีที่พ่อแม่ไม่เตี้ยแต่ลูกเตี้ยกว่าปกติ โดยตรวจไม่พบความผิดปกติจากอัตราความสูงที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ก็ถือว่าปกติคือเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ปกติ

                ด้าน ศ.พญ.สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล   รองประธานฝ่ายวิจัย ชมรมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย และกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ภาวะเด็กเตี้ยที่เป็นปัญหาด้านการเติบโต หมายถึงเด็กที่เจริญเติบโตช้ากว่าอัตราปกติทั้งน้ำหนักและส่วนสูง โดยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จะยึดตามเกณฑ์ความสูงที่ต้องไม่ต่ำกว่าเส้นล่างสุดของกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลก และสำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ปี ให้ใช้กราฟของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในการวัด  กล่าวคือ เด็กแรกเกิด - 1  ปี มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 25 ซม./ปี, เด็กอายุ 1-2 ปี  มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 12 ซม./ปี, เด็กอายุ 2-3 ปี มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 8 ซม./ปี, อายุ 3 ปี - ก่อนวัยหนุ่มสาว มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 4-7  ซม./ปี โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 5 ซม./ปี   และในช่วงเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เด็กมักจะโตเร็วขึ้น กล่าวคือ เด็กหญิงมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 7-9 ซม./ปี  และเด็กชายเติบโตประมาณ 8-10 ซม./ปี ผู้ปกครองจึงควรสังเกตการเติบโตอย่างใกล้ชิด โดยดูจากสมุดสุขภาพของเด็ก

                ด้าน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  และ ประธานสมาพันธ์ค่อมไร้ท่อเด็ก ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ( Asia Pacific Pediatric Endocrine Society – APPES) กล่าวว่าหากผู้ปกครองพบว่าความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ และให้การรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เด็กมีการเติบโตในอัตราปกติ เนื่องจากค่านิยมของคนไทยเชื่อว่าเด็กตัวสูงมีโอกาสที่ดีกว่าในการใช้ชีวิตปกติ เช่น เล่นกีฬาได้ดีกว่า บุคลิกดูดีกว่า และเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีโอกาสหางานทำได้ง่ายกว่า และนอกจากวิธีการวัดส่วนสูงแล้ว   ยังมีวิธีสังเกตอื่น ๆ อีก ได้แก่ ความสูงของเด็กแตกต่างจากความสูงตามพันธุกรรมของพ่อแม่ หรือเด็กสัดส่วนร่างกายผิดปกติ เช่น แขนขาสั้นกว่าปกติ หรือลำตัวสั้นกว่าปกติ เป็นต้น

                เมื่อพาเด็กที่สงสัยว่าเป็นโรคเตี้ยไปพบกุมารแพทย์ จะมีการประเมินและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากพบความผิดปกติหรือสงสัย จะส่งต่อไปให้กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติเบื้องต้น และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ ในกรณีที่สงสัยว่ามีภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต จะมีการตรวจโดยการกระตุ้นฮอร์โมนการเจริญเติบโต เมื่อตรวจพบความผิดปกติของระดับฮอร์โมนการเจริญเติบโต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ  จะพิจารณาการรักษาโดยให้ฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโตต่อไป  ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดฉีดเท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่มีฮอร์โมนการเจริญเติบโตชนิดกินหรือชนิดพ่นหรือแบบอื่น ๆ  ตามที่ได้มีการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์หรือทางสื่ออื่น ๆ  ทั้งนี้โรคขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กที่แสดงให้เห็นเฉพาะทางด้านร่างกาย  คือ เด็กตัวเตี้ย และด้านจิตใจคือ มีปมด้อยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อระบบร่างกายอื่น ๆ ด้วย เช่น กล้ามเนื้อเล็กและไขมันสะสมมาก เป็นต้น สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสูง ว่าคนเราจะสูงได้แค่ไหน มาจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้

  1. ยีนหรือพันธุกรรม  : ยีนที่ควบคุมเกี่ยวกับความสูงมีหลายยีน ซึ่งมีผลต่อความสูง ดังนั้นพ่อแม่ที่สูง ร่วมกับปู่ย่าตายายสูงด้วยทั้งตระกูล ลูกก็มักจะตัวสูง ความผิดปกติของยีนบางตัวทำให้สูง เช่น การผ่าเหล่าของยีน การขาดเอนไซม์ เป็นต้น
  2. ฮอร์โมน : ฮอร์โมนกระตุ้นความสูงในวัยเด็กคือฮอร์โมนเจริญเติบโตที่กระตุ้นกระดูก ทำให้มีการขยายตัวเป็นผลให้กระดูกยาวขึ้น
  3. อาหาร : อาหารมีส่วนสำคัญมากในการเจริญเติบโตของร่างกายซึ่งรวมถึงกระดูก ดังนั้นสารอาหารที่สร้างเสริมกระดูกจึงมีความสำคัญต่อความสูง ส่วนประกอบสำคัญของกระดูกคือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโปรตีนในเนื้อกระดูก   การกินอาหารที่มีโปรตีนและพลังงานเพียงพอจึงมีความสำคัญต่อการขยายตัวของกระดูก เด็กในประเทศด้อยพัฒนาที่เป็นโรคขาดอาหาร ก็จะมีความสูงและน้ำหนักน้อยกว่าปกติ
  4. โปรตีน : มีความสำคัญต่อการขยายตัวและแบ่งตัวของเซลล์กระดูกบริเวณส่วนปลายของกระดูกยาว ทำให้กระดูกมีการขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นโปรตีนที่เพียงพอจึงมีความจำเป็นต่อการเติบโตของกระดูกอย่างมาก  ส่วนแคลเซียม มีความสำคัญมากต่อมวลกระดูกและการขยายตัวของกระดูก โดยเฉพาะในวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และมีความสำคัญมากขึ้นในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีช่วงโตเร็ว จะมีการสะสมมวลกระดูกเพิ่มขึ้นมาก และจากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่าช่วงวัยรุ่นมีอัตราสูงสุดในการสะสมแคลเซียมเข้ากระดูกในชายประมาณ  360 มิลลิกรัมต่อวัน ในหญิงประมาณ 280 มิลลิกรัมต่อวัน อายุเฉลี่ยที่มีการสะสมแคลเซียม ในอัตราสูงสุดนี้คือ 14 ปีในเพศชาย และ  12.5 ปีในเพศหญิง ส่วนการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารในคนปกติจะดูดซึมได้เพียงร้อยละ 30-40 เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องบริโภคแคลเซียมประมาณ 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน จึงจะเพียงพอในการสะสมแคลเซียมในปริมาณดังกล่าว
  5. การออกกำลังกาย : นักกีฬาบางประเภทมีรูปร่างสูงใหญ่ เช่น บาสเกตบอล ว่ายน้ำ วอลเลย์บอล เป็นต้น ส่วนนักกีฬาบางประเภทมีรูปร่างเตี้ยเล็ก เช่น ยิมนาสติก บัลเลต์ เป็นต้น ทั้งนี้สืบเนื่องจากปัจจัยหลัก  คือ ประเภทของกีฬาเป็นตัวคัดเลือกให้คนรูปร่างสูงหรือเตี้ยเพื่อให้ได้เปรียบในเชิงกีฬาประเภทนั้นๆ คนรูปร่างเตี้ยก็จะได้เปรียบในเชิงกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ต้องอาศัยความสูง ส่วนผลของการออกกำลังต่อการเจริญเติบโต “อาจมีผลดีต่อความสูงได้เพียงบางส่วน” แต่ไม่เด่นชัดมากนัก แต่บางกรณีอาจมีผลลบได้ การออกกำลังระดับปานกลาง ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเจริญเติบโตชั่วคราว  หลังจากการออกกำลัง แต่ระดับฮอร์โมนเจริญเติบโตรวมตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีระดับสูงขึ้น
  6. โรคหรือความเจ็บป่วยเรื้อรัง : เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคโลหิตจางทาลัสซีเมีย โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค โรคเอดส์ ทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนไอจีเอฟ-1 (IGF-1) ลดลง การเจริญเติบโตช้าลง และความสูงสุดท้ายไม่สูงเต็มที่ตามศักยภาพของพันธุกรรม
  7. ยาหรือฮอร์โมนบางชนิด : เป็นตัวที่สำคัญและใช้บ่อยในเวชปฏิบัติ คือ สเตียรอยด์มีผลในการกดฮอร์โมนเจริญเติบโตและมีผลต่อกระดูกโดยตรง ทำ ให้การสร้างมวลกระดูกลดลงและการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น และยังมีผลในการต้านฤทธิ์ของวิตามินดี ทำให้การดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสในลำไส้ลดลง ทำให้มีการสูญเสียแคลเซียมทางไตด้วย จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน หรือกระดูกบางลง การเจริญเติบโตช้าลง และความสูงเต็มที่ต่ำกว่าศักยภาพของพันธุกรรม
  8. การนอนหลับ : การนอนหลับสนิทมีความเกี่ยวข้องกับการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต จึงแนะนำให้เด็กนอนหลับสนิทให้เพียงพอเพื่อการเจริญเติบโตที่ปกติ

รายชื่อ : โรงพยาบาลรัฐบาล ที่มีกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ทั่วประเทศไทย

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์   โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช ศิริราชปิยะมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์   โรงพยาบาลตำรวจ   โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า     โรงพยาบาลวชิรพยาบาล สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โรงพยาบาลชลประทาน โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลพระปกเกล้า โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี