สสว. จับมือ ซอฟต์แวร์พาร์ค-สวทช. หนุน SME รุ่นใหม่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง Digital หวังขยายฐานลูกค้า



นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “ประเทศไทยมี SME ประมาณ 2.8 ล้านกิจการ ได้สร้างอาชีพให้แก่คนไทยมากกว่า 10 ล้านคน และมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 42 ของ GDP ประเทศไทย รัฐบาลมีเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าของ SME ให้เป็นร้อยละ 50 ของ GDP ประเทศภายในปี พ.ศ.2564 ปัจจัยที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ประการหนึ่งคือ สนับสนุนให้ SME รุ่นใหม่ประเภท Tech startup, Smart SME หรือ Smart Farmers ผลิตสินค้า หรือบริการที่มีมูลค่าสูง และสามารถขยายฐานลูกค้าออกไปสู่ตลาดโลกได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องช่วยสร้าง network ให้ SME รุ่นใหม่ที่มีนวัตกรรมเหล่านี้ ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพต่อธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางที่สนใจจะนำนวัตกรรมของ SME รุ่นใหม่ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เป็นที่น่ายินดีว่านักธุรกิจต่างประเทศให้ความสนใจต่อนวัตกรรมทางด้าน IT ของ SME รุ่นใหม่ของไทยเรา ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมลงทุนได้ในอนาคต”

นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “งาน Technology Investment Conference ประจำปี 2017 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการพัฒนาและการริเริ่มมากมายในภาคอุตสาหกรรมและชุมชนทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี หรือเทคสตาร์ทอัพ ทั้งจากจำนวนของธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยในปี 2013 มีน้อยกว่า 10 ราย แต่ล่าสุดกลางปี 2017 พบว่ามีมากถึง 74 รายแล้ว และจากรายงานปี 2017 ของ IMD (หน่วยงานจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน) พบว่า รัฐบาลไทยและเอกชนสามารถเพิ่มงบประมาณสัดส่วนการวิจัยและพัฒนา (R&D) จาก 0.48% ของ GDP ในปี 2016 เป็น 0.62% ในปี 2017 ขณะที่กฎหมายด้านธุรกิจ ได้พัฒนาขึ้นจากอันดับที่ 44 เป็นอันดับที่ 38 สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาและกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการเริ่มต้นธุรกิจด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นอย่างมาก”

สำหรับงาน Technology Investment Conference 2017 ในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ 3 เรื่องที่ผู้ร่วมงานจะได้รับทราบภายในงาน ได้แก่ (1) ความร่วมมือระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และเทคสตาร์ทอัพ รวมถึงการลงทุนของ CVC (2) การพัฒนาความคิดใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างมีศักยภาพ และ (3) การเข้าถึงโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยและของรัฐบาล ซึ่งในการประชุมปีก่อนหน้านี้ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการระดมทุนแบบ Crowdfunding, Angel Investor, VC และสตาร์ทอัพในอาเซียนไปแล้ว การประชุมในปีนี้จึงได้จัดขึ้นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่จะสร้างความเข้าใจกลไกทางการเงินสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ในประเด็น “ธุรกิจยุคใหม่” (Next Business Generation) ด้วยเล็งเห็นว่าหลายธุรกิจอาจกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ฉะนั้น การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมการนำเสนอผลงานของเทคสตาร์ทอัพที่น่าสนใจจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคตมาเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Machine Learning, Chatbot และ Internet of Things (IOT) เป็นต้น

“การลงทุนในธุรกิจเทคสตาร์ทอัพถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับภูมิภาคอาเซียน และเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและสตาร์ทอัพให้ก้าวไปข้างหน้า การทำความเข้าใจถึงบริษัทขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ที่จะมาร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพ หรือ CVC (Corporate Venture Capital) ว่าเหมาะสมกับธุรกิจที่สตาร์ทอัพทำอยู่หรือไม่นั้น รวมทั้งโอกาสได้รับฟังการแบ่งปันแนวคิดการพัฒนาและกลยุทธ์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อและการแข่งขัน และท้ายสุดคือ การนำเสนอและสาธิตเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นโครงการวิจัยที่พร้อมสำหรับเชิงพาณิชย์หรือน่าลงทุน ซึ่งหลายๆ โครงการกำลังจะเป็นเทคสตาร์ทอัพในเร็วๆ นี้ เหล่านี้นับเป็นแนวโน้มของธุรกิจรุ่นใหม่ ที่จะพบได้ในงาน Technology Investment Conference 2017: Next Generation Businesses” ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. กล่าว