ส.ส.ท.-ส.ท.ญ. ผนึกกำลังกลยุทธ์ “TPA Cluster”พัฒนาแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี สู่ Thailand 4.0 อย่างยั่งยืน



สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น จัดแถลงข่าวแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี กลุ่ม ส.ส.ท. ก้าวสู่ Thailand 4.0 อย่างยั่งยืน   ณ โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพฯ โดยมี รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวเปิดงาน พร้อมแถลงกลยุทธ์ TPA Cluster และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  ให้เกียรติเข้าร่วมงาน อาทิ รศ. ดร.บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น  ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. Mr. Takeshi Uchiyamada Chairman of Japan-Thailand Economic Cooperation Society (JTECS) Mr. Hirofumi Miyake Minister-Counselor สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย Mr. Manabu Kahara ประธานคณะกรรมการTNI-JCC Mr. Hiroki Mitsumata ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) Mr. Hiroo Tanaka หัวหน้าสำนักงานผู้แทน JICA   Mr. Shinya Kuwayama ประธาน AOTS และ Mr. Yoshinori Furukawa หัวหน้าสำนักงานผู้แทน NEDO

ทั้งนี้ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. (Technology Promotion Association or TPA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างศักยภาพขององค์กร และบุคลากรในการให้บริการ การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย ภายใต้อุดมการณ์ “เผยแพร่วิทยาการ สร้างฐานเศรษฐกิจ” ตลอดระยะเวลา 44 ปี ในการดำเนินกิจกรรมของ ส.ส.ท. มีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ และมีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ การฝึกอบรม ศูนย์สอบเทียบเครื่องมือ โรงเรียนสอนภาษา และจัดพิมพ์หนังสือ สรุปได้ดังนี้

1. มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม และสัมมนา จำนวนกว่า 1,000,000 คน

2. มีผู้เข้ารับบริการสอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม เครื่องมือวัดวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม และเครื่องมือแพทย์

   จำนวนกว่า 10,000 องค์กร และมีเครื่องมือวัดที่เข้ารับบริการ กว่า 700,000 เครื่อง

3. มีผู้เข้าเรียนด้านภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ จีน เกาหลี และไทย จำนวนกว่า 280,000 คน

4. มีการจัดพิมพ์หนังสือ อาทิ ภาษาและวัฒนธรรม วิศวกรรม เทคโนโลยี เทคนิคอุตสาหกรรม และการบริหารจัดการ จำนวนกว่า 1,400 รายการ และมียอดพิมพ์ กว่า 6,500,000 เล่ม

พ.ศ. 2550 ส.ส.ท. ได้ดำเนินการจัดตั้ง สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น หรือ ส.ท.ญ. (Thai-Nichi Institute of Technology or TNI) โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และภาคอุตสาหกรรม ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ซึ่งตลอด 10 ปี นับแต่ก่อตั้งสถาบันมีผู้สำเร็จการศึกษากว่า 4,500 คน และมีอัตราเข้าทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์

และเมื่อปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลได้ประกาศใช้โมเดลประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 เพื่อนำประเทศมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแผนยุทธศาสตร์ให้พื้นที่ใหม่ๆ ของอุตสาหกรรม และการเติบโตจะถูกระบุเป็น 10 S-Curves ใหม่ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ริเริ่มจัดทำโครงการระเบียง เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC: Eastern Economic Corridor ซึ่งเป็นส่วนที่ผลักดันให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ความท้าทายสำคัญจึงเกิดขึ้นแก่ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการเพิ่มขีดความสามารถองค์กร และบุคลากร เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ อาทิ การเพิ่มผลผลิต ความสามารถด้านนวัตกรรม และการพัฒนาธุรกิจด้วยความคิดที่สร้างสรรค์ ดังนั้น หนึ่งในกลไกสำคัญในการผลักดันให้เป็นประเทศไทย 4.0 จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตภาคอุตสาหกรรมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม

ด้าน รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เปิดเผยว่า  เนื่องในโอกาสที่ ส.ส.ท. จะครบรอบการก่อตั้ง 45 ปี และ ส.ท.ญ. ครบรอบการก่อตั้ง 10 ปี ในปีนี้ จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการจัดทำแผนกลยุทธ์ TPA Cluster เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาไปสู่ธุรกิจใหม่ Social Innovation โดยเป็นองค์การชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนในด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรมนุษย์   สร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเข้มข้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจไทยสู่ระดับโลก โดยอาศัยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือจากเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), Japan-Thailand Economic Cooperation Society or JTECS และหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้กรอบการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี กลุ่ม ส.ส.ท. ก้าวสู่ Thailand 4.0 อย่างยั่งยืน เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้ก้าวทันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กร (Stakeholders) อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ และเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่

การพัฒนาแบบจำลองการเรียนรู้โดยใช้ระบบสารสนเทศอย่างเหมาะสม ด้วยการเปิดหลักสูตรออนไลน์โดยใช้แพลตฟอร์ม MOOC: Massive Open Online Course ในการฝึกอบรม และการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรเพื่อให้บริการ HRD: Human Resource Development ในพื้นที่ที่จำเป็นและห่างไกล อาทิ Monodzukuri ในด้านการผลิต เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมการผลิต

การสร้างศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยการจัดตั้งศูนย์ความเชี่ยวชาญหลายแขนง อาทิ TQM, TPM, Intelligent System Integration และ Data Science & Analytics

การสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาเฉพาะทาง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต อาทิ ระบบอัตโนมัติ, Robotics, การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ

การจัดตั้งศูนย์การสร้างธุรกิจใหม่สำหรับนักเทคโนโลยีและผู้ประกอบการรายใหม่ ด้วยการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก และผู้เชี่ยวชาญ จะถูกจัดเตรียมไว้สำหรับนักเทคโนโลยี และผู้ประกอบการรายใหม่  ที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจบริการ โดยการเชื่อมโยงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น

การขยายกิจกรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติสำหรับนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนากิจกรรมอบรมด้านเทคนิคและการแข่งขันประกวดด้านคุณภาพ

      ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  การจัดงานแถลงข่าวแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี กลุ่ม ส.ส.ท. ก้าวสู่ Thailand 4.0 อย่างยั่งยืน ครั้งนี้  นับว่าเป็นเรื่องดีมาก เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เดินหน้าผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทย วิสาหกิจขนาดกลาง   และขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตทันกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศ และเศรษฐกิจโลก รวมถึงดึงความร่วมมือจากผู้มีความรู้ความชำนาญในสายงานต่างๆ โดยเฉพาะทั้งสององค์กร ส.ส.ท. และ ส.ท.ญ. ที่จะนำเอาประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาองค์กรและทรัพยากรมนุษย์ การสร้าง  ขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น เข้ามาร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้สอดคล้อง  และรองรับการปรับตัวครั้งใหญ่ของธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่มุ่งสู่การปรับโครงสร้างของประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  หนึ่งในบทบาทหน้าที่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คือการเป็นแกนกลางของภาคเอกชน ภาคการผลิต พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนา SMEs ร่วมกับภาครัฐบาลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี กลุ่ม ส.ส.ท. จะเข้ามามีส่วนช่วยในด้านพัฒนา และสร้างบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมีทักษะความสามารถพร้อมในการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมไทยสู่สากล โดยสภาอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุน และเป็นแกนกลางประสานให้ความช่วยเหลือแผนดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นต่อการขับเคลื่อน และดำเนินยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 ที่จะสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจ และสังคมฐานความรู้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ โดยหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี กลุ่ม ส.ส.ท. เรื่องการขยายบริการให้ครอบคลุมกลุ่มที่กว้างขึ้นโดยใช้ MOOC เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาในการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรที่เพิ่มทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษา โดยผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และเป็นการจัดการการศึกษาที่ต้นทุนต่อผู้เรียนต่ำ อันจะส่งผลดีต่อการปรับตัวภาคอุตสาหกรรมไทย 4.0  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย