สวทช. ร่วมกับ สภาหอการค้าฯ และ มจพ. จัดสัมมนาการพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม 4.0



รศ.วันชัย แหลมหลักสกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวของผู้ประกอบการภาคเกษตรของประเทศไทย เพื่อรองรับแนวโน้มการแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจัดอบรมสัมมนาหัวข้อ “การพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม 4.0” ภายใต้โครงการ “ยกระดับผักและผลไม้ไทย: โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” เพื่อนำเทคโนโลยีด้าน “สมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart farmer)” เน้นการพัฒนาเกษตรกรให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งหากเราสามารถควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมในการผลิตหรือกระบวนการทางเกษตรกรรมได้ จะสามารถทำให้พืชผลทางการเกษตรได้ผลลัพธ์ที่สูง มีคุณภาพ ความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และมีการบันทึกข้อมูลทางการเกษตรเพื่อวางแผนการผลิตในรอบต่อๆ ไปได้ โดยในการพัฒนารูปแบบการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหรือพืชที่มีราคาสูงและความต้องการของตลาดมีมากด้วยการส่งเสริมการปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ ผู้ปลูกจะสามารถควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชให้มีคุณภาพและผลผลิตที่สูงได้โดยไม่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ เพราะโรงเรือนอัจฉริยะดังกล่าวจะเป็นโรงเรือนที่มีระบบควบคุมอัตโนมัติ ที่ควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และติดเซนเซอร์ไว้ในส่วนที่ต้องควบคุมการเจริญเติบโตของพืชได้ ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมพิเศษให้เหมาะสมกับการเติบโตของพืชที่จะปลูก นับเป็นการสร้างระบบเกษตรกรรมความแม่นยำสูง ที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในหลายด้าน อีกทั้งยังให้ผลผลิตที่สูง หรือหากไม่สูงแต่ยังเป็นผลผลิตที่สามารถคาดการณ์ได้”

ทั้งนี้ เกษตรกรรมในประเทศไทยยังประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะในมิติของผลิตภาพ (Productivity) และต้นทุนการผลิต สภาพดินฟ้าอากาศที่ควบคุมไม่ได้ มีผลต่อการทำเกษตรกรรมอย่างมาก ทำให้ผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูง และรายได้เกษตรกรมีอัตราเฉลี่ยต่ำ เนื่องจากเกษตรกรไม่มีความรู้เพียงพอ ขาดข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดสำหรับวางแผนการผลิต รวมทั้งความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพสูงที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นปัญหาดังกล่าวสะท้อนว่าอาชีพเกษตรกรยังขาดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งการส่งเสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกรดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและโอบอุ้มเกษตรกรได้

ผู้ประกอบการผักและผลไม้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “ยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” เพื่อรับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP สวทช. สามารถสอบถามราละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณพนิตา ศรีประย่า หัวหน้าโครงการฯ โทร. 0 25647000 ต่อ 1301 หรือ panita@nstda.or.th