รมว.พม. ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัดกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว



เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 เวลา 16.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัดกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดยมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมด้วย นางลักษณา อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีฯ และผู้บริหารหน่วยงาน One Home ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตลอดจนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของศูนย์ ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมสถานที่ตลอดจนบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ฯ
 
          พลเอก อนันตพร กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย เป็นหน่วยงานที่ให้การฝึกอบรมอาชีพให้แก่เด็ก สตรี และครอบครัว ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาผลประโยชน์ไปในทางที่ไม่เหมาะสม และเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณี และค้ามนุษย์ อันเนื่องมาจากความยากจน การขาดโอกาสทางการศึกษา หรือประสบปัญหาสังคมต่าง ๆ ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และอุตรดิตถ์ ซึ่งหน่วยงานนี้ช่วยป้องกันปัญหาการค้าประเวณี/การค้ามนุษย์ในพื้นที่ได้ โดยการฝึกอาชีพให้ผู้รับบริการให้มีงานทำ มีรายได้ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี และสตรีที่ผ่านการยกระดับวิชาชีพ มีความรู้มีช่องทางในการทำงานที่เหมาะสมกับรายได้ในการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคง มีโอกาสเข้ารับราชการในกลุ่มงานเทคนิค มีโอกาสได้พัฒนาเป็นหัวหน้างาน มีโอกาสได้รับการศึกษาต่อในระดับปริญญา ตลอดจนการส่งเสริมสถานภาพ คุณค่าบทบาทสตรีให้สูงขึ้น
 
          และระหว่างที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมอยู่ในศูนย์ฯ นี้ จะได้รับการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ และป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการค้าประเวณี และปัญหาการค้ามนุษย์ (กฎหมาย 5 ฉบับ) คือ การแก้ไขและป้องกันปัญหาการค้าประเวณีและค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ตลอดจนวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อีกทั้งความเสมอภาค สิทธิ บทบาทหญิง/ชาย และสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ ยังมีการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และสุขภาพทางเพศผ่านโครงการต่าง ๆ ระหว่างการฝึกอบรมอาชีพด้วย
          พลเอก อนันตพร กล่าวต่ออีกว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้มีการฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาทั้งภายในศูนย์ฯ และภายนอกศูนย์ฯ โดยผู้เข้ารับการอบรมจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สำหรับผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมภายในศูนย์ฯ จะมีให้ทั้งที่พัก อาหารทุกมื้อ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ตลอดจนสวัสดิการต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้  ซึ่งจะมีหลักสูตรในการฝึกอบรมอาชีพต่าง ๆ ประกอบด้วย หลักสูตร 6 เดือน ได้แก่ หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็ก (บริบาล) หลักสูตรโรงแรม หลักสูตรการจัดการสำนักงาน หลักสูตรโภชนาการ หลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้า และหลักสูตรเสริมสวยสตรี นอกจากนี้ยังเปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้น ได้แก่ หลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย หลักสูตรสักคิ้วสามมิติ หลักสูตรนวดสปา หลักสูตรการทำขนมไทย หลักสูตรคลีนิคผ้า (ซ่อมแซมเสื้อผ้า) หลักสูตรนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ หลักสูตรนวดเท้าเพื่อสุขภาพ และหลักสูตรผลิตภัณฑ์จากผ้าด้นมือ (แฮนด์เมด) ซึ่งหลักสูตรนี้ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของศูนย์ฯ มีชื่อว่า“เปิงเปียณ” และได้มีการจำหน่ายในร้านทอฝัน By พม. ด้วย การดำเนินการฝึกอบรมต่าง ๆ ของศูนย์ฯ ตามที่กล่าวมานี้ มีแนวทางและทิศทางการดำเนินงานในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มสตรีเป้าหมายให้สามารถพึ่งตนเองได้ พร้อมทั้งส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างการฝึกอบรมและภายหลังจบการฝึกอบรม ควบคู่ไปกับการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการดำเนินงานให้ได้มาตรฐาน มีการจัดบริการสวัสดิการสังคมแก่สตรีในศูนย์ฯ และมีมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม ขององค์การสวัสดิการสังคม ตลอดจนการบูรณาการการทำงานกับเครือข่ายซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อประโยชน์สูงสุดของกลุ่มเป้าหมาย
 
          ส่วนการฝึกอบรมภายนอกศูนย์จะเป็นลักษณะการรวมกลุ่มประกอบอาชีพต่าง ๆ ซึ่งบุคลากรของศูนย์ฯ จะลงพื้นที่เข้าไปจัดอบรมและให้ความรู้ด้านอาชีพในชุมชน โดยคำนึงถึงทรัพยากรในชุมชนนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ จนเกิดเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนอย่างน้อย 2,000-3,000 บาท/คน/เดือน และสามารถเป็นกลุ่มอาชีพต้นแบบที่เป็นแบบอย่างให้กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ส่งเสริมการประกอบอาชีพและเศรษฐกิจระดับรากหญ้าภายในชุมชน ส่งเสริมให้ครอบครัวเข้มแข็งโดยทำงานมีรายได้อยู่กับครอบครัวไม่ต้องโยกย้ายไปหางานทำที่ไกลบ้าน หรือไกลชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ศูนย์ฯ เข้าไปให้การสนับสนุนและพัฒนาการฝึกอาชีพเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเป็นสินค้า OTOP ระดับ 3 ดาวขึ้นไปจนถึง 5 ดาว ซึ่งมีเป็นจำนวนมากกว่า 30 % อีกทั้งศูนย์ฯ ยังได้สร้างผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นให้แก่สังคมอีกด้วย
         "ในโอกาสต่อไป พม.จะผลักดันให้ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวที่มีเพียง 8 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นศูนย์ที่มีการพัฒนาโดยใช้ IT มาเป็นเครื่องมือทางการตลาดในการประกอบธุรกิจการค้าของชุมชนที่ไม่ได้จำหน่ายแค่ในชุมชนแต่จะทำให้สามารถจำหน่ายได้ทั่วโลก Worldwide ด้วยสื่อดิจิตอล โดย พม. จะเพิ่มหลักสูตรสร้างตลาดออนไลน์ทาง Social Media ให้ผู้ที่เข้ามารับบริการในการฝึกอบรมกับศูนย์ฯ ด้วย โดยจะสอนให้ความรู้คลอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่การทำความเข้าใจธุรกิจยุคใหม่ การออกแบบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ การทำบัญชี ตลอดจนเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของลิขสิทธิ์ และการคุ้มครองผู้บริโภค อาทิ หลักสูตรผู้ประกอบการยุค 4.0 หลักสูตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ หลักสูตรการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการตลาดยุคใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันที่สื่อ social media เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก และผมขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีสนใจและมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเข้ามาใช้บริการในการฝึกอาชีพกับ พม. ได้ หากไม่ทราบว่าจะติดต่อเข้ามาฝึกอบรมได้อย่างไร ในเบื้องต้นก็ติดต่อมาทางสายด่วน1300 ตลอด 24 ชั่วโมงได้ก่อนเป็นที่แรก" พลเอก อนันตพร กล่าวในตอนท้าย