รมต.ท่องเที่ยวผนึกทุกภาคส่วน ตั้งเป้าพัฒนา “ท่องเที่ยวไทยอย่างรู้คุณค่า สู่มั่งคั่งยั่งยืน”



มีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับชวนซีอีโอ ผู้บริหารในวงการท่องเที่ยว บล็อกเกอร์และสื่อ ร่วมฟังการพูดคุยสบาย ๆ สไตล์รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา  “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์”  ในหัวข้อ “ชวนเที่ยวไทยอย่างรู้คุณค่า สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนในแบบไทยแลนด์4.0”  ณ โรงแรมเอเวอร์กรีน เพลส กรุงเทพ   

นายวีระศักดิ์ รมต.การท่องเที่ยวและกีฬากล่าวว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เพิ่งต้อนรับนักท่องเที่ยวคนที่ 34 ล้านคน ของปี 2560 ไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเดินทางจากกรุงไทเป ไต้หวัน และยังต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่เดินทางมาประเทศไทยเป็นคนที่ 1 ล้านของปี 2560  คาดจะพบนักท่องเที่ยวคนที่ 35 ล้านได้ก่อนฉลองปีใหม่ 2561 ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแบบนี้และในช่วง 4-6ปีข้างหน้าตัวเลขอาจแตะถึง 40 ล้านคน

ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งตนได้ประกาศนโยบายหลังเข้ารับตำแหน่งมุ่งบูรณาการทำงานด้านการท่องเที่ยวและกีฬาให้สอดคล้องและเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ นโยบายของรัฐบาล ตลอดจนการบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืนในด้านสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

รมต.ท่องเที่ยว กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามักทำงานท่องเที่ยวกันในด้านดีมานด์หรืออุปสงค์ แต่ตนจะเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวจากฐานซัพพลายหรือุปทาน  มุ่งทำให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือใหม่แห่งชาติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  ซึ่งจะเน้นพัฒนาใน 3 เรื่อง  คือ

1. ด้านศูนย์แจ้งซ่อม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปแจ้งหรือส่งภาพที่ไม่สวยงามหรือปัญหาของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เข้ามา เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาและฟื้นฟู แหล่งท่องเที่ยวให้สวยงามน่าเที่ยวต่อไป โดยประชาชนกลุ่มนี้จะเป็นเสมือนจิตอาสา ส่งภาพเข้ามา  ซึ่งภาพเหล่านี้จะถูกนำมาลำดับชั้นว่า มีปัญหาหนักเบาหรืออยู่ในภาวะเสื่อมโทรมมากน้อยอย่างไร จากนั้นนำแยกประเภท เพื่อนำสู่สร้างซ่อมต่อไป

2.การสร้างคนและหลักสูตร เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการบริการ การท่องเที่ยวของประเทศ  โดยมีความร่วมมือของหน่วยงานภาคการศึกษา นำอุตสาหกรรมมาตั้งโจทย์เพื่อทำเป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้

3.เปิดคลินิกด้านท่องเที่ยว ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ให้ความรู้และให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่มีปัญหาให้และเชิญชวนคนที่มีหน้าที่ บริษัท พนักงานแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ว่า หากต้องการจะทำกิจกรรม สามารถมาร่วมช่วยแก้ปัญหาแหล่งท่องเที่ยวตามที่คลินิกนำเสนอได้  ซึ่งจะทำให้เป็นการท่องเที่ยวมีคุณค่า  ไปเที่ยวแล้ว ยังได้ทำความดีไปด้วยพร้อมกัน เช่น กิจกรรมเก็บขยะ ปลูกต้นไม้และอื่น ๆ

" หรืออย่างที่ “ตูน” บอดี้สแลม ออกมาวิ่ง ไม่ใช่วิ่งเพื่อรับบริจาคอย่างเดียว หากมองลึกๆแล้วเขามีเป้าหมายมากกว่านั้น เขาออกมาสร้างคุณค่า ทำให้การวิ่ง เป็นกีฬาที่ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไปด้วย ทำให้ผู้ยากไร้ได้มีโอกาสในการรักษาพยาบาล สิ่งที่ตูนทำ ไม่ใช่เพื่อการวิ่งหาเงิน แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือ ต้องการบอกว่า ให้มาออกกำลังกายกัน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย”

พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมนโยบาย “สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์และยั่งยืน” โดยใช้ตัวชี้วัดตามมาตรฐานของ (Global Sustainable Tourism Council Index: GSTC) โดยมีหลายสิ่งที่เล็งเห็นว่า  ต้องมีการปรับแก้ อาทิ ด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะผลักดันให้จัดตั้งคณะกรรมการด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อเข้าแก้ปัญหาความแออัดด้านการขนส่งและภายในสนามบิน รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องห้องน้ำสาธารณะ ที่อาจใช้ประโยชน์จากห้องแถวในเขตเมืองเพื่อช่วยลดปัญหาห้องน้ำไม่เพียงพอ ในขณะที่ช่วยสร้างรายได้แก่ประชาชน  อีกทั้งสนับสนุนการดึงเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย การประชาสัมพันธ์หรือทำธุรกิจ

นอกจากนี้ยังสนับสนุน การพัฒนาการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมดั้งเดิมภายในชุมชน ไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลง

นายวีระศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันท้องถิ่นและชุมชนยังมีความสำคัญ มีบทบาทเป็น ซัพพลายเชน ด้วย โดยการส่งผลผลิตส่งป้อนขายในท้องถิ่นอื่นๆ ดังการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน+3 ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ปี 2561 ณ เชียงใหม่ ซึ่งมีการกำหนดแจ้งโรงแรมและหน่วยงานต่าง ๆที่จะประชุมขอให้ไม่นำเข้าอะไรเลย ขอให้ใช้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ภายในท้องถิ่นเท่านั้นเพื่อให้ผู้มาร่วมประชุมได้พบเห็น ชิมอาหารที่เป็นเฉพาะของท้องถิ่นจริง ๆ ช่วยสร้างคุณค่าแก่สังคม ท้องถิ่นนั้นจริง ๆ

โดยภาพรวมแล้ว กล่าวได้ว่า ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน  เพื่อทำให้นโยบายและเป้าหมายต่าง ๆ ประสบความสำเร็จได้ ทำให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าในสายตาของนักท่องเที่ยว เมื่อมาเยือนแล้วประทับใจ กลับมาเที่ยวใหม่อีกครั้ง  ซึ่งจากสถิติพบว่า มีนักท่องเที่ยว 64% ที่ไม่ได้มาประเทศไทยครั้งแรก แต่ชอบ มาเพราะเห็นคุณค่า รู้คุณค่าของการมาเที่ยวไทย