สวทน. รับลูก กระทรวงวิทย์ฯ ดึง Ease of Doing Innovation Business เสริมแกร่งภาคธุรกิจไทยแข่งขันระดับโลก



กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน Thailand 4.0 R&I Open Forum ครั้งที่ 1/2561 ในหัวข้อการออกแบบโครงสร้างระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และการปลดล็อคอุปสรรคและข้อจำกัดให้สามารถเพิ่มระดับความง่ายในการทำธุรกิจนวัตกรรม (Ease of doing innovation business) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้องวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และผู้เกี่ยวข้องในระบบวิจัยทั้งรัฐ เอกชน และภาคการศึกษา ร่วมเสนอข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานในที่ประชุม เน้นย้ำการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในยุค Thailand 4.0 บทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ไม่เพียงแต่การสร้างเทคโนโลยี แต่รวมไปถึงการสร้างขีดความสามารถให้แก่ภาคอุตสาหกรรมด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นระดับความง่ายในการทำธุรกิจนวัตกรรม (Ease of doing innovation business) โดยเห็นว่า กลไกและมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ปัจจุบันต้องส่งเสริมให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนได้อย่างแท้จริง โดยมีแนวทางสำคัญในการปรับปรุงมาตรการให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม คือ การมีข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ข้อมูลบุคลากร วทน. และข้อมูลการตลาดที่ถูกต้อง มีการปลดล็อคกฎหมาย ระเบียบ กระบวนการ วิธีการต่างๆ ให้ง่ายและเข้าถึงเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างแท้จริง โดยในแต่ละมาตรการจะต้องมีการปรับ ให้เหมาะสมกับผู้ใช้ประโยชน์ รวมถึงมีการนำร่องทดลองใช้มาตรการต่างๆ ทั้งที่เป็นด้านเทคโนโลยี (Technology sandbox) และด้านกฎระเบียบ (Regulatory sandbox) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และขับเคลื่อนในทิศทางที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ตัวอย่างมาตรการที่ภาคเอกชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ได้แก่ บัญชีนวัตกรรมไทย ที่ใช้กลไกทางการตลาดในการสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นจะต้องมีการทบทวนหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม รวมถึงการบูรณาการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ คือการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการรับรองคุณภาพ (NQI: National Quality Infrastructure) ที่ครบถ้วน มีประสิทธิภาพ และมีกระบวนการที่คล่องตัว ไม่ผูกขาด โดยรัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม รวมถึงสร้างกระบวนการให้ภาคเอกชนเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นแหล่งทดสอบ รับรองมาตรฐานสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์โดยตรง แต่ยังรวมถึงเป็นการสร้างฐานการต่อรองทางการค้าให้ประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญเรื่องการมีกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ดำเนินการมากว่า 10 ปี จะต้องมีการเร่งผลักดันให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ โดยเห็นว่าการมอบสิทธิความเป็นเจ้าของในผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้แก่ผู้รับทุนที่มีศักยภาพจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เป็นการสร้างแรงจูงใจและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมนวัตกรรมเช่นเดียวกับในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการตื่นตัวในการสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการผลงานวิจัยของผู้รับทุน โดยเฉพาะสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการบริหารจัดการผลงานวิจัยต้องอาศัยศาสตร์หลากหลาย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องหลักควรมีบทบาทเป็นเจ้าภาพและเร่งดำเนินการ

ท้ายสุดที่ประชุม ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่อง ร่าง พ.ร.บ. การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ  โดยเห็นว่าสำนักงานที่จะเกิดขึ้นควรมีบทบาทการเป็นคลังสมอง (Think tank) ด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทำงานในเชิงรุก มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน มีบุคลากรจำนวนไม่มากที่มีคุณภาพสูง ไม่ติดอยู่กับรูปแบบและระบบการบริหารหน่วยงานในลักษณะเดิมที่มีขั้นตอนมาก และสามารถให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์เพื่อวางนโยบายระดับประเทศได้