สวทช. มอบความสุขช่วงปิดเทอมแก่น้องๆ ในงาน NAC 2018 สนุกคิดนักวิทย์น้อยในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ



ในงาน NAC 2018 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 10 - 11 มีนาคม 2561 : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย ตอน สนุกคิดนักวิทย์น้อยในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย แก่น้องๆ นักเรียนชั้นประถมปลายและมัธยมต้นกว่า 1,200 คน จัดเต็ม 6 ฐานกิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์จากพี่ๆ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้ได้รับแรงบันดาลใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สนุกและท้าทาย ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ พัฒนาทักษะการสังเกต รู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเองเพิ่มขึ้น
ในวันแรกและรอบแรกของกิจกรรมสนุกคิดนักวิทย์น้อยในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เริ่มอุ่นเครื่องน้องๆ ก่อนเข้าฐานทำกิจกรรมด้วยการชมการแสดง Science Show โดยพี่ๆ พิธีกรจากรายการ Kid Rangers ปฏิบัติการเด็กช่างคิด ทางช่องไทยพีบีเอส พบการทดลองทางวิทยาศาสตร์แบบง่ายๆ ในรูปแบบสะเต็ม (STEM) ผสมผสานความสนุกหลากรส พร้อมร่วมเล่นเกม ตอบคำถาม และรับของรางวัลมากมาย


 

จากนั้น น้องๆ พากันเข้าฐานกิจกรรม ซึ่งแบ่งออก 6 ฐาน ฐานละ 50 คน แบบไม่เวียนฐาน รวมรอบละ 300 คน ซึ่งตลอด 2 วันของการจัดกิจกรรมมีด้วยกันทั้งสิ้น 4 เป็นรอบเช้าและบ่าย ได้แก่ ฐานที่ 1 พิมพ์ลายด้วยสีธรรมชาติ โดยพี่ๆ เอ็มเทค สวทช. (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ) ให้น้องๆ ได้ทำกระเป๋าผ้าลวดลายตามแต่จินตนาการด้วยสีจากธรรมชาติที่ผ่านการวิจัยให้ติดทนนานบนลายผ้า สวยถูกใจแค่ไหน น้องๆ หยิบติดกลับบ้านไปใช้ต่อได้เลย ฐานที่ 2 รู้จักเห็ดรา โดยพี่ๆ ไบโอเทค สวทช. (ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ) ให้ความรู้เห็ดและราคืออะไร พร้อมทดลองทำการเพาะเห็ด และนำผลงานกลับเป็นที่ระลึกได้ ฐานที่ 3 ข้าวคนละคำ โดยพี่ๆ ไบโอเทค สวทช. อธิบายให้น้องๆ รู้จักข้าวและประโยชน์ของข้าวที่นอกเหนือจากเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถนำมาทำเป็นขนมไทยๆ อย่างเมี่ยงคำ ไว้ทานเป็นอาหารว่างทีละคำได้
 

ขณะที่ ฐานที่ 4 มหัศจรรย์นาโน โดยพี่ๆ นาโนเทค สวทช. (ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ) ให้ความรู้เรื่องนาโนเทคโนโลยี ระดับจิ๋วว่าจิ๋วแค่ไหน และทดลองทำเจลสบู่แบบง่ายๆ ฐานที่ 5 วิทยาศาสตร์แสนสนุก โดยผู้แทนประเทศไทยโครงการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ปี 2561 เป็นการทดลองกระบวนการเกิดแก๊สจากขบวนการย่อยอาหาร ทำให้ทราบว่าแอร์เอกซ์ (Air-X) จะช่วยให้ฟองแก๊สถูกขับออกจากทางเดินอาหารได้เร็วขึ้นได้อย่างไร และฐานที่ 6 Rice Leaves Recycle โดยฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ (AYS) สวทช. มารู้จักแกลบหรือวัสดุเหลือใช้จากข้าว ที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าทำเป็นแม่เหล็กติดตู้เย็น (Magnet) จากแกลบได้ ด้วยแม่แบบที่เตรียมไว้ให้ ได้ Magnet ลายเก๋ไก๋กลับติดตู้เย็นที่บ้านกัน