นวัตกรรมใหม่รักษามะเร็งเต้านม การดูแลครบทุกมิติ




ศ.นพ.ศุภกร โรจนนินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เต้านม โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวถึง มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยหนุนคือฮอร์โมนเอสโตรเจนที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมจนเจริญเติบโตผิดปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้นได้ ทำให้เซลล์เหล่านั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็งและโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แนวทางในการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน นับได้ว่ามีความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามลำดับ ดังเช่น “ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลวัฒโนสถ” ที่ได้การรับรองคุณภาพ “โรคมะเร็งเต้านม (Clinical Care Programme Certificate)” จากสถาบัน JCI ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นศูนย์เต้านมที่มุ่งเน้นการให้บริการแบบครบทุกด้าน และยังมีทีมแพทย์สหสาขาที่พร้อมให้บริการรักษา  ไม่ว่าจะเป็น แพทย์อายุรกรรมมะเร็ง ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ วิสัญญีแพทย์  แพทย์ทางด้านรังสีวินิจฉัย และบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชา  ที่พร้อมให้คำแนะนำในการตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการค้นหามะเร็งเต้านม รวมถึงการติดตามผลการรักษาทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตรวจคัดกรองและการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว นำไปสู่การรักษาครบทุกขั้นตอน โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาครอบคลุมทุกระยะของมะเร็งเต้านมด้วยมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ จากสถิติพบว่าอายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่พบมะเร็งเต้านมมากที่สุดคือ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเซลล์มะเร็งอาจจะก่อตัวก่อนหน้านั้น แต่ผู้ป่วยเพิ่งมาตรวจพบในช่วงวัยดังกล่าว เพราะมะเร็งเต้านมค่อนข้างโตช้า กว่าจะเปลี่ยนแปลงจากเซลล์เดียวจนมีขนาด 1 ซม. ต้องใช้เวลาเป็นปี นอกจากนั้นแล้ว สำหรับผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะ 0 ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็งที่ยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม การรักษาด้วยการผ่าตัดมีโอกาสหายได้เกือบ100% ส่วนในผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 ซึ่งก้อนมีขนาดน้อยกว่า 1 ซม. การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวนั้นสามารถที่จะรักษาให้หายได้ประมาณ 90% การตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกยังสามารถเลือกได้ว่าจะผ่าตัดเฉพาะจุดที่เป็นมะเร็ง (ผ่าตัดแบบสงวนเต้าหรือตัดเฉพาะบางส่วน) หรือจะเลือกการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ซึ่งหากเลือกการผ่าตัดแบบสงวนเต้าต้องทำควบคู่กับการฉายรังสีรักษาเต้านมที่เหลือ แต่หากเลือกการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ก็ไม่จำเป็นต้องรับการฉายรังสีรักษาหลังรับการผ่าตัด ซึ่งทั้งสองวิธีให้ผลการรักษาที่เหมือนกันคือ ผู้ป่วยมีโอกาสจะหายจากมะเร็งได้เกือบ 100% โดยไม่ต้องให้เคมีบำบัด แต่หากพบมะเร็งเต้านมในระยะที่ใหญ่ขึ้น คือตั้งแต่ระยะที่ 1 ตอนปลายเป็นต้นไป จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ทั้งยังต้องรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดและฮอร์โมน เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ


ขณะเดียวกันนวัตกรรมใหม่แห่งการผ่าตัดรักษาโดยใช้วิธี PlasmaBlade ซึ่งเป็นเครื่องจี้ที่ใช้พลังงาน radiofrequency หรือ คลื่นความถี่วิทยุที่มีการเปลี่ยนรูปแบบพลังงานให้เป็น plasma ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ช่วยลดการทำลายเนื้อเยื่อปกติข้างเคียง สามารถผ่ารักษาเก็บหัวนมและเต้านมไว้ได้ ช่วยให้แผลหลังผ่าตัดหายเร็วขึ้น  เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เครื่องจี้แบบเดิมใช้พลังงานไฟฟ้าที่อาจทำให้เกิดอุณหภูมิเกิน 100 องศา เพื่อตัดหรือเลาะเนื้อเยื่อ ไขมันระหว่างผ่าตัด ส่งผลข้างเคียงคือทำให้เกิดความร้อนสูง ทำลายเนื้อเยื่อ เส้นประสาท หรือกล้ามเนื้อใกล้เคียงที่อยู่บริเวณเต้านมและรักแร้ อีกทั้งอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ระหว่างและหลังผ่าตัด เช่น อาการอักเสบของแผล การคั่งของน้ำเหลือง หรือการที่เส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อถูกทำลายบางส่วน ส่งผลให้แผลหายช้า คนไข้ต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น ดังนั้นการผ่าตัดโดยใช้ PlasmaBlade ร่วมด้วยจึงทำให้ลดอาการแทรกซ้อนระหว่างและหลังผ่าตัด คนไข้พักพื้นและกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น ที่สำคัญคือยังรักษาทั้งหัวนมและเต้านมไว้ได้ ทำให้ผู้หญิงไม่รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ


พญ.ขวัญสกุล บุญศรารักษพงศ์ แพทย์รังสีวินิจฉัยและเฉพาะทางด้านภาพรังสีวิจฉัยส่วนเต้านม ศูนย์เต้านม รพ. วัฒโนสถ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติของเต้านม เช่น  รู้สึกปวดหรืออึดอัดที่บริเวณเต้านม หรือคลำพบก้อนที่เต้านม,ไหปลาร้า หรือใต้รักแร้ รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงของหัวนม เช่น เป็นแผล มีเลือดออกหัวนม, หัวนมยุบลงไปหรือถูกดึงรั้งไปทางอื่น   แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป (diagnostic mammogram) โดยผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่มีอาการควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (screening mammogram)ได้แก่ ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ตรวจเป็นประจำปีละครั้ง ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (high risk group)ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ , ตรวจพบความผิดปกติทางพันธุกรรมของยีน BRCA1,2 หรือมีญาติสายตรงที่มียีนนี้ผิดปกติ, ผู้ป่วยที่ประจำเดือนมาเร็วผิดปกติหรือหมดประจำเดือนช้าผิดปกติ, ผู้ป่วยที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน รวมถึงผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาโดยการฉายแสงบริเวณทรวงอกในช่วงอายุ10-30 ปี แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเร็วกว่าผู้ป่วยทั่วไป คือ ตั้งแต่อายุ 30-35 ปี โดยขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจะใช้เครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและการอัลตร้าซาวด์เต้านมเพื่อให้ตรวจ  พบความผิดปกติหรือมะเร็งระยะเริ่มต้นได้ไว  ร่วมกับการรักษาที่มีคุณภาพ ช่วยให้โอกาสรักษาได้ผลดี ลดอัตราการเสียชีวิตอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม( 2D digital mammography) คือการใช้รังสีเอกซเรย์ตรวจดูการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างของเต้านม มีประสิทธิภาพในการตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก โดยมีปริมาณรังสีที่ได้รับเพียงเล็กน้อย ซึ่งปัจจุบันการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมยังถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคเต้านม  และมีการนำดิจิตอลแมมโมแกรมแบบสามมิติมาใช้ ( 3D digital mammography, digital breast tomosynthesis)ทำให้สามารถวินิจฉัยรอยโรค,ระบุตำแหน่งได้แม่นยำมากขึ้นโดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยที่มีเนื้อเต้านมหนาแน่น  ช่วยทำให้สามารถมองเห็นจุดหินปูนหรือเนื้อเยื่อโครงสร้างที่ผิดปกติขนาดเล็กได้ ขณะที่การตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านม เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม ซึ่งสามารถบอกความแตกต่างขององค์ประกอบเนื้อเยื่อได้ว่าเป็นเนื้อเยื่อเต้านมปกติ เป็นถุงน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อได้ แต่ไม่สามารถตรวจพบกลุ่มหินปูนที่ผิดปกติได้ดังเช่นการตรวจแมมโมแกรม
ดังนั้นปัจจุบันทั้งการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิฉัยมะเร็งเต้านมจึงเป็นการตรวจแบบควบคู่กันทั้งดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำและความถูกต้องในการค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก นำไปสู่การวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อดูความผิดปกติของเส้นเลือดที่สร้างใหม่ของรอยโรคโดยการฉีดสารไอโอดีนทึบรังสีร่วมกับทำแมมโมแกรม เรียกว่า contrast enhanced spectral mammography ( CESM) และการตรวจเต้านมด้วยเครื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (breast MRI) เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้นในการวินิจฉัย และเตรียมวางแผนการรักษาผู้ป่วยต่อไป เมื่อมีความผิดปกติที่พบในแมมโมแกรม หรืออัลตร้าซาวด์ ก็ยังสามารถเจาะชิ้นเนื้อ ( breast biopy) เพื่อนำไปวินิจฉัย และวางแผนการรักษาต่อไปได้อีกด้วย
 

รศ.นพ.ประเสริฐ เลิศสงวนสินชัย ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง รพ.วัฒโนสถและแพทย์รังสีรักษา กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งโดยทั่วไปต้องดูแลรักษา แบบสหสาขาวิชาชีพ สำหรับมะเร็งเต้านมก็เช่นกัน แนวทางการักษามาตรฐานในปัจจุบัน ใช้วิธีการรักษาแบบผสมผสาน ด้วยการผ่าตัดเป็นหลักในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก และเสริมการรักษาด้วยรังสีรักษา หรือการใช้ยารูปแบบต่างๆ ตามข้อบ่งชี้ การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน นิยมรักษาด้วยการผ่าตัดสงวนเต้า ซึ่งจะต้องให้การฉายรังสีควบคู่กันไปด้วย จากการศึกษาติดตามผลการรักษา 30-40 ปี ที่ผ่านมา ได้ผลการรักษาเท่ากับการรักษาด้วยการตัดเต้านม แต่ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตและบุคคลิกภาพที่ดีกว่า
การรักษาโรคมะเร็งมีพัฒนาการในทุกด้าน รังสีรักษาก็เช่นกัน มีวิวัฒนาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมาก สามารถกำหนดตำแหน่งพื้นที่เป้าหมายที่จะทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้รังสีไปกระทบหรือทำลายอวัยวะปกติรอบข้างอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเครื่องฉายรังสียุคใหม่ (Varian EDGE) ซึ่งสามารถฉายรังสีได้ทั้งแบบ 3 มิติ (3D-CRT)และ 4 มิติ (4D-RT) โดยอาศัยระบบคอมพิวเตอร์คำนวนปริมาณรังสีและกำหนดทิศทางลำรังสีให้ครอบคลุมเฉพาะเนื้อเยื่อที่ต้องการให้การรักษา ทำให้ลดผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับปอดและหัวใจ ลักษณะสำคัญของเครื่อง Varian EDGE คือมีซี่วัตถุกำบังรังสีขนาดเล็กๆ 120 ซี่ ซึ่งแต่ละซี่จะเคลื่อนตัวอย่างอิสระ และช่วยกำบังไม่ให้รังสีไปกระทบกับอวัยวะปกติรอบข้าง นอกจากนี้ในระหว่างการรักษา แพทย์ยังสามารถตรวจสอบตำแหน่งของรอยโรคหรือเนื้อเยื่อได้ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องแม่นยำ

พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์ แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันหากสามารถผ่าตัดออกได้ก็เป็นเรื่องดี แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวบางครั้งไม่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ ถึงแม้จะเป็นระยะแรก เช่น ระยะที่ 2 หรือ 3 จึงจำเป็นต้องมีการรักษาเสริมเพิ่มเติมแล้วแต่ชนิดของมะเร็ง เช่น  การใช้รังสีรักษา (Radiation) หรือการรักษาด้วยกลุ่มยา (Systemic Therapy) เช่น ยาเคมีบำบัด (Adjuvant Chemotherapy) ยาฮอร์โมน (Adjuvant Hormonal Therapy) และยามุ่งเป้า Targeted Therapy) โดยยารักษาโรคมะเร็งมีวิธีการทำงานโดยไปช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของมนุษย์เองให้ต่อสู้กับเซลล์มะเร็งในร่างกายเรียกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ “Immunotherapy” อย่างไรก็ตาม ยาเคมีบำบัดหรือ “Chemotherapy”ยังเป็นการรักษาหลักสำหรับการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นยาที่ใช้กันมานาน สามารถรักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิด ทั้งโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งทางเดินอาหาร และมะเร็งอื่น ๆ ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่สำคัญคือ การที่มีเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือดต่ำ และอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่ในปัจจุบันมียาเคมีบำบัดใหม่บางตัวที่ผลข้างเคียงไม่รุนแรง และที่สำคัญยาที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในปัจจุบันดีมาก คุมอาการคลื่นไส้ได้ดี และยังมียากระตุ้นเม็ดเลือดขาวใช้หลังการฉีดยาเคมีบำบัดก็สามารถลดอาการข้างเคียงของการที่ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำลงได้ การรักษามะเร็งแนวใหม่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยาวนานขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขอแค่มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้าย และการหมั่นใส่ใจสุขภาพเมื่อมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์