คึกคัก งานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018 คาดยอดชมเกินเป้า



เริ่มแล้ว  การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ  อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018  คึกคัก ตอบโจทย์หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ระดมพลร่วมดูงานรับข้อมูลทั้งด้านวิชาการ  และ เทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีรถไฟฟ้าทั่วโลก 120 บริษัท คาดสองวันมียอดผู้ร่วมงาน 3,000 คน    จับตาการพัฒนาระบบรางไทยเข้าสู่ยุคพีคสุด หลังลงมือปฏิบัติตามแผนลงทุนห้าปี 2.2 ล้านบาท รฟท.+วว.+สมอ.ผนึกกำลังพัฒนาระบบราง  ภาครัฐจับมือ10มหาลัยเร่งสร้างบุคลากรเข้าระบบกว่า3หมื่นคน หนุนงานวิจัยผลิตงานเพื่อระบบร่างลดการนำเข้าต่างชาติ ตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์14.2% ให้เหลือ11.9% ปี 2579ลงทุน7,822,581 ล้านบาท เพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางระยะ20ปี นำมาตรการลดภาษีจูงใจนักลงทุนไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า ภายหลังเป็นประธานเปิดงาน การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ  อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018  ที่มีขึ้นวันที่ 28-29 มีนาคม 2561 ณ. ฮอลล์แสดงสินค้า  สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต  เรล ลิงก์  มักกะสัน ว่า งานนี้มีความสำคัญ   เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ แหล่งรวมบริษัทผลิตสินค้าและเทคโนโลยีระบบรางรถไฟฟ้าจากทั่วโลก ถือเป็นจุดดูงานสำหรับประเทศเราที่เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายรัฐบาล   โดยเฉพาะระบบราง

 

ทั้งนี้ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน 8 ปี ของกระทรวงคมนาคม ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558–2565 นั้น ลงทุนให้ระบบรางจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท เร่งจัดทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง ลดภาระการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ พัฒนาบุคลากร ด้านเทคนิควิศวกรรมระบบรางไปพร้อมๆ กัน เพราะมีการคาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า  (2561-2564) ไทยจะมีความต้องการบุคลากรด้านระบบราง มากถึง 3 หมื่นคน ตลอดจนเร่งส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมระบบรางของไทยด้วยจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนระบบรางได้บางชิ้นส่วน ส่วนใหญ่เป็นประเภทที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงนัก   เช่น ไม้หมอนและชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งภายในตัวรถ  ส่วนการผลิตตัวเครื่องยนต์แคร่ ขบวนรถโดยสาร และราง ผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถผลิตได้เอง เพราะไทยยังไม่มีโรงเหล็กต้นน้ำ และเป็นระบบที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้ทำความตกลงกับประเทศเจ้าของเทคโนโลยีระบบรางชั้นนำ ระบบรางของโลกหลายประเทศ เพื่อจัดทำโปรแกรมร่วมกัน ด้านการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี และการฝึกอบรมพัฒนาระบบราง อาทิ ประเทศจีน ในโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กทม.- หนองคาย  ญี่ปุ่น ในโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กทม.- เชียงใหม่ รวมถึงเกาหลีและเยอรมัน เป็นต้น

          

นอกจากนี้ยังมีการเซ็นเอ็มโอยู 3 กระทรวงหนุนพัฒนาวิจัย-บุคลากรรางในปี 2560 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการด้านการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบราง เพื่อนำงานวิจัยพัฒนาระบบรางมาใช้ประโยชน์ด้านการขนส่ง การเดินรถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบรางของประเทศ รวมทั้งมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะผู้ใช้ชิ้นส่วนรายใหญ่ ไปจัดทำแผนความต้องการใช้ชิ้นส่วนระบบรางในระยะยาวว่ามีความต้องการใช้อุปกรณ์ หรือชิ้นส่วนชนิดใดบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ให้กล้าตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมระบบรางรวงทั้งประสานความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อสำรวจข้อมูล ว่าชิ้นส่วนชนิดใดในระบบรางที่ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ เพื่อเร่งรัดจัดทำแผน ส่งเสริมการลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบขบวนรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เกี่ยวกับชิ้นส่วนภายในประเทศ และยังมีความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกร ช่างเทคนิค พนักงานจัดการระบบราง โดยขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง เพื่อวางหลักสูตรการเรียนการสอบ เพื่อเตรียมบุคลากรที่จะมารองรับระบบราง ทั้งวิศวกร ช่างเทคนิค ผู้ที่จะประกอบการเดินรถ  และประกอบการซ่อมบำรุงรถไฟในอนาคต  ในอนาคตอาจจะเสนอให้รัฐบาลจัดหาทุนการวิจัยระบบรางด้วย

นายชัยวัฒน์  ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบรางจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ถือเป็น 1 ใน 10ยุทธศาสตร์หลักที่รัฐบาลต้องการเร่งรัดให้ดำเนินการ ทั้งนี้ สนข. ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี ตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางได้กำหนดวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 7,822,581 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งในเมือง ระหว่างเมือง และระหว่างประเทศ ให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาคของประเทศ ตลอดจนการเชื่อมโยงไประหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และได้มาตรฐานโดยตั้งเป้าหมายที่จะปรับลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 14.2% ให้เหลือ11.9% ภายในปี 2579 และปรับลดต้นทุนค่าขนส่งต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จาก 7.4% ให้เหลือ 6.7% ภายในปี 2579 รวมทั้งเร่งรัดผลักดันสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน1.4% ให้เป็น 10% ภายในปี 2579 เนื่องจากเป็นระบบที่มีต้นทุนการขนส่งที่ถูกเพียง 0.93 บาท/ตัน/กม. หากเทียบกับการขนส่งทางถนนซึ่งอยู่ที่ 1.72 บาท/ตัน/กม.

นายดิสพล   ผดุงกุล  นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เปิดเผยถึง การจัดงาน การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018 ( The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and RAIL Asia Expo 2018) หรือ The 4th RISE Symposium & RAIL Asia Expo 2018   วันที่  28-29 มีนาคม นี้นับเป็นการเติบโตของงานแสดงสินค้าด้านระบบราง ซึ่งงาน RAIL Asia Expo 2018 จัดโดยบริษัท เอเชีย เอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด ที่มีการจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่หกแล้ว

  ในปีนี้ งาน RAIL Asia Expo 2018 มีการผนึกกำลังกับ RISE การประชุมสัมมนาระบบรางภายใต้ การสนับสนุนจากภาครัฐ ร่วมกันจัดงานสินค้าระบบรางระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย และการประชุมสัมมนาด้านอุตสาหกรรมระบบรางขั้นสูง  “ งานนี้ถือเป็นการพัฒนาระบบรางครั้งสำคัญยิ่ง เนื่องด้วยจะมีหน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการเดินรถ ผู้ผลิตเทคโนโลยีระบบ อุปกรณ์ มาร่วมแสดงผลงานอย่างเต็มรูปแบบไปพร้อมๆกัน”

 

การพัฒนางานวิจัยระบบรางของไทยนั้น ได้มีการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้กำหนดให้งานวิจัยระบบรางเป็นหนึ่งในแผนงานวิจัยมุ่งเป้าของประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการบริหารแผนงานวิจัย เพื่อให้มีผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในด้านการคมนาคมระบบรางและตรงตามความต้องการของประเทศ พร้อมทั้งส่งมอบผลงานวิจัยสู่หน่วยงานผู้รับประโยชน์ โดยในปีนี้ เป็นการส่งมอบผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนารถยนต์รางขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรฏฐ์ สุคนธนกานต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยส่งมอบผลงานให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายดิสพล กล่าว