รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมพัฒนาระบบรางของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน



เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้กำหนดให้งานวิจัยระบบราง เป็นหนึ่งในแผนงานวิจัยมุ่งเป้าของประเทศโดยได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการบริหารแผนงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการของประเทศและสนับสนุนงบประมาณงานวิจัยและพัฒนาแก่นักวิจัยมาตั้งแต่ปี 2555 โดยได้มีการส่งมอบผลงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดประชุมวิชาการ พร้อมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยมาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2558 สำหรับในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมโลก นโยบายชดเชยการจัดชื้อจัดจ้าง และความเชี่ยวชาญไทย มุ่งสู่การพัฒนาระบบราง” โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท) บริษัท Asian Exhibition Services Ltd. (AES) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) งานดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2561 ณ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน กรุงเทพมหานคร โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกันเป็นประธานเปิดงาน เวลา 09.00 น.

ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาด้านการคมนาคมระบบรางที่ได้ส่งมอบผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนารถยนต์รางขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” ของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การจัดแสดงนิทรรศการของอุตสาหกรรมระบบรางและความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทย รวมถึงการแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบรางระดับโลก การบรรยายและเสวนาพิเศษเกี่ยวกับการนำนโยบายการจัดชื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขการตอบแทนด้วยการสนับสนุนการพัฒนาประเทศมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทย และ การเสวนาด้านการพัฒนาบุคลากรระบบรางของประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาระบบรางในอนาคตทั้งด้านปริมาณ คุณภาพและความพร้อมรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทยและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการพัฒนาบุคลากร และการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางต่อไป