ไอคอนสยาม จับมือม.เอเชียอาคเนย์พัฒนาหลักสูตรสหกิจ เตรียมความพร้อมสร้างอาชีพให้นักศึกษา



การสร้างพันธมิตรในรูปแบบสหกิจศึกษา กำลังได้รับความนิยมจากสถาบันการศึกษาหลาย ๆ แห่ง  มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่ได้นำรูปแบบความร่วมมือดังกล่าว มาพัฒนาให้เป็นหลักสูตรสหกิจ โดยความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างบริษัทไอคอนสยามในการสนับสนุน ส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าทำงานในองค์กรบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เริ่มต้นจากการฝึกงานตามหลักสูตรสหกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้าทำงานจริง  

นายสุพจน์  ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทไอคอนสยาม จำกัด  กล่าวว่า บริษัทไอคอนสยามมีความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ให้ก้าวทันทักษะงานในศตวรรษที่ 21 และจะร่วมมือให้นักศึกษาได้เข้ามาทำงานได้จริง โดยจะให้ความร่วมมือด้านการจัดการศึกษา การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับทางมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการด้านแรงงานของบริษัทฯ ซึ่งเมื่อนักศึกษาได้เข้ารับการฝึกตามหลักสูตรสหกิจครบถ้วนแล้ว และต้องการเข้าทำงานต่อที่บริษัทฯ ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ หากมีคุณสมบัติและมีความสามารถตรงตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทตั้งไว้

นายฉัททวุฒิ  พีชผล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ทักษะการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน ที่ความรู้ทั่วไปหาได้ทั่วไปทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและประสบการณ์ทักษะที่สำคัญ คือ ทักษะในการทำงานต้องได้รับการฝึกฝนอย่างจริงจังตลอด ไม่ใช่หลังจากจบหลักสูตรการเรียนในระดับปริญญาตรี  แต่ควรจะเป็นช่วงระหว่างที่กำลังเรียนจะต้องมีการฝึกทักษะอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งสำคัญของการเรียนในศตวรรษที่ 21 คือการเรียนรู้ตลอดชีวิตรวมถึงการใช้ภาษา การวิเคราะห์ และการขวนขวายหาความรู้นอกห้องเรียน เพื่อให้ทันต่อการปรับตัว ซึ่งงานด้านต่าง ๆ จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นนักศึกษามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ทุกคน จะต้องมีความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ภาษา และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ได้จริง และพร้อมที่จะรู้จักสามารถสร้างทักษะได้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิตในการทำงาน

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไอคอนสยามและมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เพื่อที่จะให้นักศึกษาได้เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ซึ่งในยุคของการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนกำลังคน ทำให้บัณฑิตที่จบการศึกษาจะต้องมีความพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้าสู่ตลาดแรงงานในรูปใหม่ ๆ นอกจากจะต้องพยายามค้นหาศักยภาพและความสามารถของตนเองออกมาอย่างเต็มที่เพื่อเข้าทำงานในสาขาต่าง ๆ ที่เรียนมาแล้ว สถาบันการศึกษาที่นักศึกษาเรียนจะต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง  ภายใต้ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ หรือ ยุค Industry 4.0 การศึกษาแบบเดิม มหาวิทยาลัยแบบเดิม กำลังจะล้าสมัย จึงจำเป็นต้องรีบปรับตัวอย่างเร่งด่วน ซึ่งต่อไปมหาวิทยาลัยจะต้องทำหน้าที่คอยติดตามและตอบสนองกับบัณฑิตที่เรียนจบไปแล้วว่าอยากกลับมาเรียนอะไร เพื่อเตรียมเข้าสู่ในยุคที่คนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต (Encourage lifelong learning)