5 ภาคส่วนการเกษตร แนะรัฐ ชี้ทางออกของประเทศไทย ความปลอดภัยทางการเกษตร



สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สภาหอการค้าไทย สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และอดีตที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย จัดเสวนา ทางออกของประเทศไทย ความปลอดภัยทางการเกษตร หลังจากบางหน่วยงานนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ สร้างความตื่นตระหนกและไม่มั่นใจในการบริโภค รวมถึงกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยกว่า 10 ล้านราย ราคาสินค้าตกต่ำ ขายไม่ได้ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ลุกลามไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและแปรรูปทั้งกลุ่มอาหารคนและสัตว์ จนถึงภาคการส่งออกของประเทศ หวั่นสูญรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท

ดร. นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชวีภาพสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยในฐานะ ครัวของโลก ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากกว่า 200 ประเทศ นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละ 1.2 ล้านล้านบาท แต่จุดอ่อนของเกษตรกรรมไทย ต้องประสบปัญหาการคุกคามจากศัตรูพืช โดยเฉพาะ วัชพืช ตลอดทั้งปี ดังนั้น การเลือกใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ถือเป็นเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดในและต่างประเทศ แต่ในทางกลับกัน สารเคมีที่เกษตรกรใช้เป็นอาวุธป้องกันผลผลิต เช่น พาราควอต กลับถูกมองเป็นจำเลยสังคมไทย เพราะมีการนำเสนอข้อมูลที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และไม่ครบถ้วน สมาคมฯ ในฐานะที่อยู่ในวงการเกษตร และยึดหลักการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก จึงได้จัดจัดเสวนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเสนอทางออกผ่านมุมมองของนักวิชาการ และผู้อยู่ในวงการเกษตร โดยคำนึงถึงบริบททางสังคม วิทยาศาสตร์ ความเป็นไปได้ ณ ปัจจุบัน ในการพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

รศ. ดร. นุชนาฏ จงเลขา ผู้อำนวยการศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวถึงมาตรฐานการผลิตว่า “ผลผลิตของโครงการหลวงมีมาตรฐานสูง มีกระบวนการให้ความรู้และคัดสรรสมาชิกหรือเกษตรกรในโครงการ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะต้องปฏิบัติตามกฎของโครงการ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐาน ตามแบบสากล ไม่ว่าจะเป็นระบบ GAP (Good Agriculture Practice) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสูง และ Global GAP มาตรฐานระดับโลก ซึ่งต้องมีการควบคุมการใช้สารกำจัดวัชพืช เช่นพาราควอตซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญของเกษตรกรก็เช่นกัน แต่ที่ผ่านมา ก็มีการนำเสนอข้อมูลจากบางหน่วยงานที่ขาดข้อเท็จจริง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มสมาชิกเกษตรกรโครงการถูกปฏิเสธการรับซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาข้อมูลต่างๆ บนพื้นฐานด้านวิชาการ มีความรู้ ความชำนาญ  และการตรวจสอบ ควรใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานด้านการวิเคราะห์ การนำเสนอข้อมูลในเชิงลบ ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ผลิต และการส่งออก ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลในเชิงลบแบบนี้ จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ”

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางการเกษตร เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกรผู้ใช้ กลุ่มพ่อค้าคนกลาง ภาครัฐ ​และประชาชน ปัจจุบัน มีระบบที่คอยช่วยเหลือเกษตรให้สามารถใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้อง สารเคมีไม่ใช่ศัตรูตัวร้าย แต่หลายคนไปวางภาพให้เป็นเช่นนั้น จริงๆ ในทุกวัน ชีวิตคนเราต้องเผชิญกับสารเคมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเผชิญนั้น มนุษย์เรารู้จักป้องกันหรือรู้จักใช้แค่ไหน ชีวิตปัจจุบันเป็นโลกของวิทยาศาสตร์แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะปราศจากสารเคมี การใช้อย่างถูกต้องจะไม่มีผลต่อความปลอดภัยและการตกค้างในผลผลิต จากข่าวที่มีผู้หยิบยกการปนเปื้อนของสารกำจัดวัชพืช ที่ว่าพบสารพาราควอตปนเปื้อนในผักมากมาย แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังไม่เคยมีประเทศคู่ค้าตีกลับสินค้าเนื่องจากการปนเปื้อนพาราควอต หรือสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นๆ เลย ดังนั้นการนำเสนอข่าวแบบนี้ จะส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่น และกระทบการส่งออกของประเทศ”

นายประสาท เกศวพิทักษ์ อดีตที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีต นายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นเกษตรกรรายเล็ก จำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือให้สามารถยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ทุกภาคส่วนต้องโดยคำนึงถึงเกษตรกรเป็นหลัก หลายเรื่องอาจคิดว่าสามารถแก้ปัญหาได้ง่าย แต่ความเป็นจริง เกษตรกร มีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง เงินทุน การเข้าถึงแหล่งทุน ที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวอย่างไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความสับสน อย่างเรื่องการจะยกเลิกสารพาราควอต นั่นคือเรื่องใหญ่ เพราะกระทบกับพืชเศรษฐกิจของประเทศ กระทบกับเกษตรกรจำนวนกว่าสิบล้านคน เมื่อผลกระทบเกิดในวงกว้าง ยิ่งต้องดูให้รอบครอบ อยากฝากถึงผู้รับผิดชอบให้พิจารณาถึง เกษตรกรรายย่อย ทำอย่างไรให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ในต้นทุนที่ไม่เพิ่มขึ้น”

นายสุกรรณ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้พยายามสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่กลุ่มต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตรกร สังคม และภาครัฐ ในประเด็นความปลอดภัยทางการเกษตร และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศ ทันทีที่มีข่าวการปนเปื้อนพาราควอตในพืชผัก ราคาสินค้าตก เกษตรกรขายสินค้าไม่ได้ทันที ซึ่งตนก็มีข้อสงสัยว่างานวิจัยนี้ทำอย่างไร ทั้งๆ ที่หน่วยงานอื่นๆ ตรวจไม่พบการปนเปื้อนพาราควอต ที่ผ่านมาบางหน่วยงานโดยเฉพาะกลุ่มเอ็นจีโอ กลับให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ นำข้อมูลที่เกิดขึ้นส่วนน้อยมาเป็นตัวแทนของทั้งประเทศ แบบนี้ไม่ถูกต้อง ให้ข่าวจนสังคมเกิดความตื่นตะหนก และนี่มาถึงขั้นให้เลิกใช้พาราควอต คุณรู้ไหมว่าพาราควอตเป็นสารที่เกษตรกรชอบ และใช้ได้ปลอดภัยที่สุด ใช้กับพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่ารวมกว่าห้าแสนล้านบาท จึงอยากให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาทุกเรื่องบนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยต้องคิดถึงเกษตรกรเป็นลำดับแรก ในฐานะผู้ผลิตและเป็นกระดูกสันหลังของชาติ”

บทสรุปข้อเสนอแนะ ทางออกของประเทศไทย ความปลอดภัยทางการเกษตร ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในการนำข้อมูลไปตัดสินหรือพิจารณาในการกำหนดแนวทางเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยของภาคเกษตร อาทิ 1) ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ เรื่องมาตราฐานการผลิต และการใช้อย่างปลอดภัย  2) ภาครัฐต้องมีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหาร และผลผลิต และมีการรายงานผลเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น 3) การจะยกเลิกสารเคมีที่เป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานของเกษตรกร เช่นพาราควอต ต้องพิจารณาด้วยความรอบครอบ ควรไปแนะนำเกษตรกรให้ใช้พาราควอตได้อย่างถูกต้องมากกว่าการจะยกเลิก 4) การเสนอข่าวในแง่ลบ โดยยังไม่พิจารณาให้รอบครอบ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และการส่งออกทันที จึงขอให้เอ็นจีโอ ได้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เพราะการตรวจสอบเรื่องสารตกค้างต้องเป็นผู้ชำนาญในการตรวจวิเคราะห์ และการตรวจสอบต้องผ่านห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานด้านการวิเคราะห์ จึงจะมีความน่าเชื่อถือ