THAILAND FASCINATION.. เที่ยวอ่างทอง...อันซีน 5 วัดดัง นมัสการพระนอนคู่เมือง เสริมวาสนา หนุนบารมี



จังหวัดอ่างทองร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศ(ททท.)และบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) จัดงาน THAILAND FASCINATION.. เที่ยวอ่างทอง...อันซีน 5 วัดดัง นมัสการพระนอนคู่เมือง เสริมวาสนา หนุนบารมี กิจกรรมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน 2561 ณ วัดขุนอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง

การจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายรัฐฐะ สิริธรังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธีเปิดงานTHAILAND FASCINATION.. เที่ยวอ่างทอง...อันซีน 5 วัดดัง

นมัสการพระนอน เสริมวาสนา หนุนบารมี เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอความน่าสนใจแสดงความเป็นไทยท้องถิ่นทั้งเรื่องประเพณี วัฒนธรรม อาหารการกินตลอดศิลปะวัฒนธรรม ของใช้ของที่ระลึก ที่มีความน่าสนใจของจังหวัดอ่างทองให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมากยิ่งขึ้น

งานTHAILAND FASCINATION.. เที่ยวอ่างทอง...อันซีน 5 วัดดัง นมัสการพระนอน เสริมวาสนา หนุนบารมี ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ลองเดินทางมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 แห่งในจังหวัดอ่างทอง ผ่านกิจกรรมตามรอยเส้นทางอันซีน 5 วัดดัง

โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดเส้นชัยที่วัดขุนอินทประมูลอำเภอโพธิ์ทอง จุดที่นักท่องเที่ยวจะรับพาสปอร์ต สำหรับร่วมกิจกรรมและนำพาสปอร์ตไปประทับตราให้ครบทั้ง 5 วัดดัง ตามเส้นทาง

เมื่อได้ประทับตราครบแล้วสามารถนำมาแลกรับพระสมเด็จขุนอินทประมูล ที่จัดเป็นที่ระลึกสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้

ไฮไลทฺ์งานครั้งนี้ ร่วมจุดเทียนอธิษฐานขอพร องค์พระใหญ่ ในเวลา 19.00 น.ทั้งสองวัน

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ "อ่างทอง...แดนดินถินธรรมมะ" ที่บอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดอ่างทอง พร้อมแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจังหวัดอ่างทอง

ทั้งยังมีการจัดแสดงสินค้าท้องถิ่นภาคกลาง ขนมไทยโบราณ อาหารและผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน กิจกรรมบนเวที ทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน วงดนตรีพื้นบ้าน ตลอดจนการแสดงของศิลปินรับเชิญมากมาย

วัดป่าโมกวรวิหาร

พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก" เป็นพระพุทธไสยาสน์ศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานที่วัดป่าโมกวรวิหาร (ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร) ที่ ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง

ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ทราบแต่เพียงว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพากองทัพมากราบไหว้พระพุทธไสยาสน์ก่อนยกทัพไปสู้รบกับพม่าองค์พระพุทธไสยาสน์มีความยาว 24 เมตร ที่ฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้างมีการจารึกโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งแต่งเพื่อบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งชะลอพระพุทธไสยาสน์ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยชะลอจากที่ตั้งเดิมที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามาไว้ยังที่ตั้งปัจจุบัน เพื่อป้องกันกระแสน้ำพัดตลิ่งพัง และอาจทำให้องค์พระถล่มลงในแม่น้ำได้ เมื่อชะลอองค์พระไว้ในที่ตั้งปัจจุบันเสร็จแล้ว พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวิหารหลวงเพื่อครอบองค์พระนอน แต่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเสด็จสวรรคตเสียก่อนที่วิหารหลวงจะสร้าง แล้วเสร็จ การจัดมหรสพเพื่อฉลององค์พระพุทธไสยาสน์และวิหารหลวงจึงได้จัดขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ตำนานเรื่องพระนอนพูดได้ที่วัดป่าโมก เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์โรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดในบ้านป่าโมก ตามลิขิตของพระครูปาโมกขมุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหารในสมัยนั้นได้บันทึกไว้ พอสรุปได้ว่า .... 

 เมื่อปี พ.ศ.2448 พระโต พระในวัดป่าโมกป่วยหนักด้วยโรคอหิวาต์ หมอที่ไหนก็รักษาไม่หาย ขณะนั้นอุบาสิกาเหลียน หลานสาวของพระโต ซึ่งอยู่ที่บ้านเอกราช แขวงป่าโมก ก็จนปัญญาจะไปหาหมอยามารักษาพระโต ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของสีกาเหลียน สีกาเหลียนจึงมาตั้งสัตยาธิษฐานต่อพระพุทธไสยาสน์ และมีเสียงออกมาจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์บอกตำรายาแก่สีกาเหลียน แล้วจึงนำใบไม้ต่างๆ ที่ว่าเป็นยามาต้มให้พระโตที่อาพาธฉัน พระโตก็หายเป็นปกติ จากนั้นสีกาเหลียนจึงนำเหตุอัศจรรย์มาแจ้งต่อพระครูปาโมกขมุนีและพระที่วัดป่าโมก แต่พระครูป่าโมกขมุนียังไม่เชื่อ จึงได้ให้พระสงฆ์ โยมวัด และศิษย์วัดรวม 30 คน โดยมีสีกาเหลียนไปด้วย พระครูปาโมกขมุนีให้จุดไฟรอบวิหารพระนอน เพื่อดูว่ามีใครมาทำโพรงหลังพระนอนแล้วแอบซ่อนมาพูดกับสีกาเหลียนหรือไม่ แต่พระสงฆ์และโยมวัดก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น วันต่อมา สีกาเหลียน พระครูปาโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัดรวม 30 คน พากันเข้ามาในวิหารพระนอน สีกาเหลียนจุดธูปเทียน และถวายหมากพลูแก่พระพุทธไสยาสน์ เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ หมากพลูที่สีกาเหลียนถวายหายไปในเวลา 2 นาที พระครูปาโมกขมุนีและพยานทั้งหลายประสบเหตุอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่เชื่อ สีกาเหลียนจึงได้อาราธนาพระพุทธไสยาสน์ให้พูดคุยกับพระครูปาโมกขมุนี ปรากฏว่า ก็เกิดเสียงจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์อีก โดยในวันนั้นพระครูปาโมกขมุนีได้ไต่ถามพระพุทธไสยาสน์เกี่ยวกับสารทุกข์สุกดิบ และเครื่องยาที่รักษาผู้ป่วยโรคอหิวาต์ พระพุทธไสยาสน์ก็ตอบคำถามที่พระครูปาโมกขมุนีถามทุกประการ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2448 เมื่อเวลา 4 ทุ่ม สีกาเหลียน พระครูปาโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัด ได้เข้าไปตรวจดูในวิหารพระนอนอีกครั้ง แต่ไม่พบพิรุธใดๆ คราวนี้พระครูปาโมกขมุนีได้ถามพระพุทธไสยาสน์ว่าจะบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระและวิหารขึ้นใหม่ ก็บังเกิดเสียงตอบรับมาจากพระอุระของพระนอนอีก โดยพระพุทธไสยาสน์เกิดความยินดีที่พระครูปาโมกขมุนีจะบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระนอนและวิหาร ตำนานเรื่องพระนอนพูดได้

 

เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโท เดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ มีนามว่า วัดไชโย ครั้นเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตารามได้เลือกวัดนี้เป็นที่สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ตั้งอยู่กลางแจ้ง กล่าวว่าการก่อสร้างพระพุทธรูปนี้ใช้เวลานานเกือบ 3 ปี

วัดไชโยวรมหาวิหาร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงเสร็จ แล้วสมเด็จพุฒาจารย์ได้ถวายวัดไชโยเป็นวัดหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดเกษไชโย” ใน พ.ศ.2430 มีการปฏิสังขรณ์วัดเกษไชโยทั้งพระอาราม ทำให้พระพุทธรูปได้รับแรงกระเทือนจากการก่อสร้างพระวิหารก็พังทลายลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ทดแทนโดยโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการเป็นแม่กองช่าง โดยรื้อองค์พระเดิมออกหมด วางรากฐานก่อสร้างใหม่ใช้โครงเหล็กรัดอิฐปูนไว้ภายในลดขนาดจากองค์เดิมลงพระพุทธรูปองค์นี้ได้รับพระราชทานนาม "พระมหาพุทธพิมพ์” ขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง 11 วา ศอก 7 นิ้ว และโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดไชโยให้เป็นพระอารามหลวง นอกจากนี้ยังมีการก่อ พระวิหาร สร้างพระอุโบสถเป็นมุขลดยื่นออกมาทางด้านหน้า มีศาลาราย กำแพงแก้ว ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ หอระฆัง ศาลารายกลางวัด ศาลาท่าน้ำ รวมเวลาการปฏิสังขรณ์นานถึง 8 ปี พระวิหาร มีความสูงใหญ่มากแห่งหนึ่ง รูปทรงแปลกตา ด้านนอกมีรูปทวารบาลลายรดน้ำ เป็นรูปเสี้ยวกวาง เสาหารด้านหน้า-หลังพระวิหารมีขนาดใหญ่โตมาก ภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปั้นปางสมาธิ ผนังทุกด้านมีภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องพุทธประวัติ ภาพเหล่าทวยเทพที่วิจิตรงดงาม ยังอยู่ในสภาพที่ดี บานประตูแกะสลักอย่างประณีต สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้ ได้แก่ พระมหาพุทธพิมพ์ หรือที่เรียกว่า หลวงพ่อโต เป็นฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีพุทธลักษณะที่โดดเด่นกว่ายุคสมัยที่ไม่ยึดแนวอุดมคติตายตัว พระพักตร์และพระกรรณจึงเหมือนคนธรรมดามากกว่า มีริ้วรอยย่นของ สบง จีวร ชัดเจน

นอกจากจะเป็นวัดสำคัญของอำเภอไชโยแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรู้จักวัดนี้เป็นอย่างดี ได้แก่ "พระสมเด็จเกษไชโย” พระเครื่องที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณนานัปการ

วัดไชโยวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลไชโย อำเภอไชโย จากอ่างทองใช้ทางหลวงหมายเลข 309 (อ่างทอง-สิงห์บุรี) ประมาณ 17 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาบริเวณสถานีตำรวจภูธรตำบลไชโยอีกประมาณ 300 เมตร จะถึงจุดหมาย ....

พระนอนวัดขุนอินทประมูล

พระนอนวัดขุนอินทประมูล หรือ พระศรีเมืองทอง ประดิษฐานอยู่ ณ วัดขุนอินทประมูล ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง อยู่ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 7 กิโลเมตร องค์พระยาว 1 เส้น 5 วา หรือ 50 เมตร ซึ่งนับเป็นพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวเป็นอันดับที่สอง รองจากพระนอนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

จากการสันนิษฐานมีความเห็นว่าได้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระพักตรหันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก เมื่อมองตลอดทั้งองค์มีความสง่างามมาก พระพักตรงดงามได้สัดส่วน แสดงออกถึงความมีเมตตา

ปัจจุบัน องค์พระนอนอยู่กลางแจ้งไม่มีวิหารคลุมเช่นพระนอนองค์อื่น เนื่องจากวิหารเดิมคงหักพังไปนานแล้ว ดังจะเห็นได้จาก เสาพระวิหารที่ยังปรากฏอยู่รอบองค์พระนอน รอบ ๆ องค์พระมีต้นไม้ขนาดใหญ่หลายต้นขึ้นอยู่โดยรอบ ทำให้มีความสงบร่มเย็น เหมาะแก่การไปนมัสการให้เกิดความสุข สงบ ตามธรรมชาติ ซึ่งแปลกออกไปจากบรรยากาศในพระวิหาร

วัดจันทรังษี

สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2446 ตั้งอยู่ระหว่างสองฝั่งถนน มีการจัดสวนประดับประดาด้วยต้นไม้น้อยใหญ่อย่างสวยงาม ภายในวัดมีวิหารจัตุรมุขมียอดบุษบกกลาง 5 ชั้น สูง 48 เมตร กว้าง 24 เมตร ยาว 33 เมตร มีสถาปัตยกรรมอันวิจิตรงดงามที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในจังหวัดอ่างทอง ภายในประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ (หลวงพ่อสด จันทสโร) หล่อด้วยโลหะองค์ใหญ่สุดในโลก มีขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9 เมตร 9 นิ้ว ส่วนอีกด้านเป็นโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวหัวไผ่ ชาวบ้านเล่าว่าพระพุทธรูปองค์นี้สามารถโยกไปมาได้ ประชาชนในแถบนั้นจึงนิยมเรียกกันว่า "หลวงพ่อโยก" เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยา บริเวณหน้าวิหารมีประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างขนาดใหญ่ที่สวยงาม มีประวัติที่เล่าสืบต่อมาว่า สามเณรสงัด สะอาดเอี่ยม ได้ติดตามปรนนิบัติหลวงตาทัยซึ่งพำนักอยู่ในป่าช้าวัดจันทรังษี หลวงตาได้บอกกับสามเณรว่าวัดจันทรังษีมีช้างใหญ่อยู่เชือกหนึ่งเป็นช้างที่สวยงามมาก ชื่อว่าช้างมงคล และต่อไปวัดจันทรังษีนี้จะเจริญรุ่งเรือง ในปัจจุบันวัดจันทรังษีมีความเจิรญสมกับคำพูดของหลวงตาทัย

 

วัดจันทรังษี ตั้งอยู่ที่บ้านนา หมู่ที่ 9 ตำบลหัวไผ่ จากเมืองอ่างทองใช้ทางหลวงหมายเลข 309 (อ่างทอง-ป่าโมก) ประมาณ 2 กิโลเมตร

วัดม่วง

สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายหรือ พ.ศ. 2230 ตั้งอยู่แขวงเมืองวิเศษชาญ ซึ่งเคยเป็นเมืองหน้าด่าน ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงให้แก่พม่า และพม่าได้เผาผลาญบ้านเมือง วัดวาอาราม และพระพุทธรูปไปเป็นจำนวนมากสิ่งที่หลงเหลืออยู่ คือ ซากปรักหักพังของวัดวาอาราม และพระพุทธรูป ที่อยู่บนเนินต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมาก