ครั้งนี้ ได้มีโอกาสร่วมทริปกับ ททท. โดยการนำของ คุณคมกริช ด้วงเงิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว

ล้อหมุนจากสำนักงานททท. ตอนเช้าๆ ไปยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จุดแรกที่เรามาถึง คือ " ศูนย์การเรียนรู้ ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี " อำเภอปราณบุรี ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระบบนิเวศป่าชายเลน และห้องเรียนรู้เกี่ยวกับ ทรัพยากรป่าชายเลน

มีพื้นที่ 786 ไร่ ก่อนที่จะเป็นป่าอุดมสมบูรณ์แบบนี้ เคยตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก สาเหตุมาจากการทำนากุ้ง ทำให้ดินเสีย จนเมื่อปี 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้า ฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาถึง ทรงมีความห่วงใยต่อสถานการณ์

จากนั้น จึงเริ่มปลูกป่าชายเลนในบริเวณดังกล่าว โดยความร่วมมือของชาวชุมชนปากน้ำปราณ และบริษัทปตท.จำกัด ( มหาชน) ด้วยการเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และปลูกป่าชายเลนขึ้นมาตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ได้พัฒนาแปลงปลูกป่าชายเลนบางส่วน ให้เป็นศูนย์ศึกษาและห้องเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรป่าชายเลน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระราชทานชื่อว่า " สิรินาถราชินี "

กิจกรรมที่น่าสนใจที่นี่ ได้จัดทำเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นสะพานไม้ทอดยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ลัดเลาะไปตามป่าชายเลน เราจะได้ชมพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ จะมีป้ายข้อมูลให้ความรู้อยู่เป็นระยะ นอกจากนี้ยังได้เห็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน เช่น ปูก้ามดาบ หอยขี้กา เป็นต้น และมีหอคอยชมวิว ที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ แบบ 360 องศา สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เบอร์โทร 032 632 255

จากนั้น เราไปต่อกันที่ " ถ้ำพระยานคร " อำเภอสามร้อยยอด เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด บนเพดานถ้ำ จะมีปล่องให้แสงสว่างลอดเข้ามาได้

จุดเด่นของที่นี่ คือ พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาส ตั้งอยู่ภายในถ้ำ เป็นพลับพลาแบบจตุรมุข จะสวยมาก เวลาที่แสงอาทิตย์ส่องลอดผ่านปล่องของถ้ำลงมากระทบกับพระที่นั่งแห่งนี้

กิจกรรมที่น่าสนใจ ที่นี่มีจุดเด่นคือ พระที่นั่ง คูหาคฤหาสน์ ไม่สามารถนำรถเข้าไปได้ ต้องจอดไว้ที่บ้านบางปู และนั่งเรือไป-กลับ ใช้เวลาเดินทาง 10 นาที หรือใช้วิธีเดินเท้าข้ามเขาเทียน ระยะทาง 530 เมตร หลังจากนั่งเรือ หรือเดินเท้าแล้ว ต้องเดินขึ้นเขาต่อไปยังถ้ำอีก 430 เมตร สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ โทร 032 821 568

การเดินทางสำหรับวันแรกคืนนี้พวกเราพักกันที่โรงแรม วาฏิกา แอดเวนเจอร์ รีทรีทติค รีสอร์ท อำเภอกุยบุรี อรุณสวัสดิ์วันที่ 2 รับประทานอาหารเช้าในโรงแรม

ออกเดินทางต่อไปยัง " บ้านรวมไทย " อำเภอกุยบุรี หมู่บ้านแห่งนี้ถือกำเนิดจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมอบพื้นที่ทำกินให้ราษฎร จึงมีการอพยพจากหลายถิ่นฐานมาจับจองพื้นที่ดังกล่าว

 

จนเกิดเป็นที่มาของชื่อ " หมู่บ้านรวมไทย " จะได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของชุมชน ในแง่มุมต่างๆ เริ่มด้วยการเที่ยวชมธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์ที่จุดชมวิว ส่งเสริมอาชีพตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง

เรียนรู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะปลูกสับปะรด ก็จะนำใยสับปะรดที่เหลือใช้ มาแปรรูปโดยผ่านกระบวนการต่างๆ ทำเป็นกระดาษสา ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์

เช่นพัด กล่องทิชชู กล่องของขวัญ มีการปลูกหม่อน-เลี้ยงไหม และนำใบหม่อนมาทำชาใบหม่อน ส่วนรังไหมนำมาทำเป็นเส้นไหม และมีการทอผ้าอีกด้วย

สอบถาม ขอรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เบอร์โทร 085 266 1601

พวกเราเดินทางต่อไปยัง " อุทยานแห่งชาติกุยบุรี " ซาฟารีเมืองไทย ชมความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ฝูงช้างป่า ฝูงกระทิง และสัตว์ป่านานาชนิด

มีพื้นที่ครอบคลุม อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่นี่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร เนื้อที่ 969 ตารางกิโลเมตร จะได้สัมผัส บรรยากาศธรรมชาติ มีกิจกรรมชมช้างป่า และกระทิง

บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ห้ามนำรถส่วนตัวเข้าบริเวณผืนป่า จะมีรถของชาวบ้าน ที่เข้าร่วมกับอุทยาน ไว้คอยให้บริการนักท่องเที่ยว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร 032 510 453 และ 081 776 2410 ออกจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มุ่งสู่อำเภอหัวหิน

คืนที่ 2 นี้ เราพักกันที่โรงแรม ริชชี่ โฮเทลหัวหิน อรุณสวัสดิ์หัวหิน รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม ทำภารกิจส่วนตัวเสร็จ

พวกเราออกเดินทางไปยัง" สวนเกษตร " อำเภอป่าละอู เที่ยว ชม ชิม ทุเรียนป่าละอู

ผลไม้ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นครั้งแรกที่ได้รับประทาน ขอบอก ... อร่อยมาก สีของทุเรียนป่าละอูจะเหลืองอ่อนๆ รสชาติหวานมัน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของที่นี่

หลังจากได้รับประทานแล้ว พวกเรายังได้ซื้อกลับด้วย เสร็จสิ้นภารกิจ พวกเราเดินทางกลับกรุงเทพฯ

       ขอขอบคุณ คุณคมกริช ด้วงเงิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ททท. ทั้งสำนักงานกรุงเทพฯ และ ประจวบฯ ที่ดูแลเป็นอย่างดีตลอดการเดินทาง

.......

เรื่อง-ภาพ 

ปนัดดา วีแก้ว