ททท. ภูมิภาคภาคกลางเน้น Premium Nostalgia…More Legacy ตามรอยมรดกแห่งสยาม เพื่อกระตุ้นการเดินทางสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่



 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ณ ร้านอาหารเรื่องของโอ่ง จ.ราชบุรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดแถลงทิศทางการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ภูมิภาคภาคกลาง ประจำปีงบประมาณ 2562 โดย นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง กล่าวว่า ททท.ภูมิภาคภาคกลาง ได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น 9 สำนักงาน 17 จังหวัด ประกอบด้วย ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ รับผิดชอบพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ททท.สำนักงานเพชรบุรี รับผิดชอบพื้นที่ เพชรบุรี ททท.สำนักงานกาญจนบุรี รับผิดชอบพื้นที่ กาญจนบุรี ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม รับผิดชอบพื้นที่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ททท.สุพรรณบุรี รับผิดชอบพื้นที่ สุพรรณบุรี อ่างทอง ททท.ราชบุรี รับผิดชอบพื้นที่ ราชบุรี นครปฐม ททท.พระนครศรีอยุธยา รับผิดชอบพื้นที่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ททท.ลพบุรี รับผิดชอบพื้นที่ ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท ททท.ประจวบคีรีขันธ์รับผิดชอบพื้นที่ ประจวบคีรีขันธ์ ททท. ได้กำหนดเป้าหมายจากการท่องเที่ยวของคนไทยทั้งประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2561 โดยภูมิภาคภาคกลางซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศจะสร้างรายได้ถึงร้อยละ 47 ของประเทศ โดย ททท.ภูมิภาคภาคกลางยังคงตอกย้ำการเดินทางท่องเที่ยวผ่านแคมเปญสื่อสารการตลาด “Amazing ไทยเท่” โดยมีแนวคิดในการขับเคลื่อนใช้จุดแข็งในพื้นที่ในเรื่องราวความเป็นราชธานีของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มากว่า 600 ปี นับตั้งแต่ เมืองละโว้ เมืองอู่ทอง กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นศูนย์กลางของสถาบันกษัตริย์ การเมืองการปกครอง การค้า การทูต และศิลปะทุกแขนง ผ่านกาลเวลาที่ยาวนานหลอมรวมเป็นศิลปกรรมชั้นสูง วัฒนธรรมนานาชาติ และวิถีชุมชนลุ่มน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำปราณบุรี ลุ่มน้ำเพชรบุรี เป็นต้น ดังนั้น ททท. ภูมิภาคภาคกลางจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเดินทางท่องเที่ยวผ่านเรื่องราวหรือกิจกรรมที่ทรงคุณค่าในอดีต Premium Nostalgia…More Legacy ตามรอยมรดกแห่งสยาม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการท่องเที่ยวในภูมิภาค ภายใต้การดำเนินงาน 4 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย 1. กลยุทธ์การกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกระแสหลัก จากการสำรวจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว การเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคภาคกลางส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะนิยมขับรถยนต์เที่ยวเอง เนื่องจากภาคกลางมีศักยภาพด้านพื้นที่และเส้นทางที่ใช้เวลาในการเดินทางไม่นาน และมีแหล่งท่องเที่ยวไม่ไกลกันมาก ประกอบกับความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้านอาหารผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังนั้น ททท.ภูมิภาคภาคกลาง จึงได้กำหนด จัดโครงการ อร่อยเด็ด เจ็ดย่านน้ำ และโครงการขับรถเที่ยวใกล้ สุขใจแค่เอื้อม ขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกระแสหลัก ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวทางรถยนต์ ผ่าน Content เรื่องอาหาร เครื่องดื่ม ที่มีชื่อเสียงและประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน อาทิ อาหารตำรับชาววัง เส้นทางสายปลาทู เส้นทางขนมหวาน ฯลฯ 2. กลยุทธ์ขยายฐานนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพ ภาคกลางจะเจาะกลุ่มศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มความสนใจพิเศษ อาทิ กลุ่มผู้มีรายได้สูง กลุ่ม Couple กลุ่มผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ให้เดินทางสัมผัสประสบการณ์ย้อนอดีตภายใต้โครงการ “Premium Nostalgia…More Legacy มรดกแห่งสยาม” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายโดยนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยวที่เป็นมรดกตกทอดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งวัด/วัง งานศิลปะชั้นสูง และโครงการพระราชดำริ 3. กลยุทธ์กระจายพื้นที่และช่วงเวลาในการท่องเที่ยว ในปีที่ผ่านมา ททท.ภูมิภาคภาคกลาง ได้ดำเนินการจัดโครงการ “เมืองต้องห้าม...พลาด@ภาคกลาง” เพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในเมืองหลัก และให้เกิดรายได้หมุนเวียนไปยังทั่วทั้งภูมิภาค โดยในปีงบประมาณ 2562 การดำเนินโครงการดังกล่าวจึงได้รับการต่อยอดและผลักดันให้เกิดเป็นโครงการ “ภาคกลางเที่ยวใกล้” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้เมืองรองในภูมิภาคภาคกลางเพิ่มมากขึ้น พร้อมตอกย้ำจุดขายที่มีเอกลักษณ์ทางการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด ของตลาดในประเทศ ซึ่งภูมิภาคภาคกลาง มีพื้นที่เมืองรองทั้งสิ้น 7 จังหวัด ประกอบด้วย ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ลพบุรี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี นอกจากการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรองแล้ว ทาง ททท. ภูมิภาคภาคกลางยังได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบ Creative Tourism ภายใต้ชื่อโครงการ Go Local Go Central เพื่อส่งเสริมและกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันธรรมดา ภายใต้ชื่อ โครงการ วันธรรมดาน่าเที่ยว เนื่องจากพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา ภายในพื้นที่ภาคกลางมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ และก่อให้เกิดการกระจุกตัวในแหล่งท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ในช่วงวันเสาร์ และอาทิตย์ การเดินทางในวันธรรมดาจึงสามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดีกว่าเพราะไม่ต้องเบียดเสียดในแหล่งท่องเที่ยว การจราจรไม่ติดขัด รวมถึงการรับบริการจากผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่ 4. กลยุทธ์สร้างความเข้มแข็งให้สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวรัฐบาลมุ่งเน้นให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย นอกจากรายได้จากการท่องเที่ยว รัฐบาลยังมุ่งหวังให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย เพื่อวางรากฐานให้สังคมเข้มแข็งและยั่งยืน ททท. จึงได้กำหนดแผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ขึ้น ภายใต้ชื่อ “เมืองไทย ใครๆก็เที่ยวได้” โดยเจาะกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ประกอบกับเป็นการสร้างโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส อาทิ คนพิการ เด็ก และคนชรา ตามแนวคิด Tourism For All โดยมุ่งหวังให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย อันจะทำให้สังคมไทยเข้มแข็งและยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล