รัฐบาลมอบ วช. จัดกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ”เดินรณรงค์ “คน รัก คลอง”...“ไม่ทิ้ง ไม่เท ทุ่มทำความดี”



สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ให้จัดกิจกรรมในนามรัฐบาล “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เดินรณรงค์ “คน รัก คลอง”... “ไม่ทิ้ง ไม่เท ทุ่มทำความดี” วันที่ 15 ธันวาคม 2561 ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหารกรุงเทพมหานคร โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

เพื่อเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร และสืบสานพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนสร้างการตระหนักรู้และจิตสำนึกในการดูแลรักษาพัฒนาคลองเพื่อสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน

โดย วช. ได้นำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ด้านการดูแลลำน้ำ ลำคลอง และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาลำน้ำมาจัดแสดงในนิทรรศการรักษ์ลำน้ำ ลำคลอง พัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วยวิจัยและ นวัตกรรม จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่

ระบบการบำบัดน้ำเสียแบบคลัสเตอร์สำหรับการจัดการน้ำเสียชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ,ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ IT-BF/ MBR (Inclined Tube-Biofilter / Membrane Bioreactor) แบบประหยัดพื้นที่สำหรับการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ,ระบบบำบัดน้ำเสีย และเครื่องผลิตปุ๋ยหมัก

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะคณะอนุกรรมการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาเพื่อการพัฒนาลำน้ำ กับชีวิต บนวิถีแห่งความพอเพียง เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนริมลำน้ำ

ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนการดำเนินงานของชุมชน เช่น การแปรรูปผักตบชวาวัชพืชและขยะมาใช้ประโยชน์ในชุมชน และเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายเพื่อก่อให้เกิดรายได้รวมถึงกำหนดแนวทางการสนับสนุนเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนเป็นศูนย์เรียนรู้ ฐานเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดำเนินชีวิตภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำคลังความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาลำน้ำ(www.krw.nrct.go.th) เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับลำน้ำ และชีวิต จากบนเว็บไซต์ในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์อีกด้วย