กรมการค้าภายในดันเที่ยวตลาดประชารัฐ หนุนความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก



กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ นำคณะสื่อมวลชน ร่วมสัมผัส มนต์เสน่ห์ตลาดประชารัฐต้องชม เยือนถิ่นภาคกลาง เส้นทางพระนครศรีอยุธยา - นครราชสีมา - สระบุรี หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวตลาดประชารัฐต้องชม สร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “ตลาดเที่ยวได้...สไตล์ไทยๆ” เมืองไทยมีดี  วีถีชุมชน

                นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในเดินหน้าผลักดันการพัฒนาตลาดชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ “ตลาดประชารัฐต้องชม” ภายใต้แนวคิด “เอกลักษณ์พาณิชย์ อัตลักษณ์ของชุมชน” ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ปัจจุบันกรมส่งเสริมเป็นตลาดประชารัฐต้องชมแล้ว จำนวน 219 แห่ง  จำนวน 32,245 แผง  ทั่วประเทศ  โดยปี 2561 ตลาดประชารัฐต้องชม มีมูลค่าการซื้อขาย กระจายรายได้สู่ชุมชนกว่า 1,276 ล้านบาท นอกจากนี้กรมได้ขยายผลและยกระดับตลาดต้องชมโดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัย ทั้งไทยและต่างชาติ ได้สัมผัสถึงเสน่ห์และอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นที่น่าสนใจ ภายใต้แนวคิด “ตลาดเที่ยวได้...สไตล์ไทยๆ” เมืองไทยมีดี วิถีชุมชน เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจจากการบริโภคภายในประเทศ  พัฒนาเศรษฐกิจฐานแรกและชุมชนให้มีความเข้มแข็งในระยะยาว รวมทั้งสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

                สำหรับการเดินทางครั้งนี้ กรมการค้าภายในนำสื่อมวลชนสำรวจตลาดประชารัฐต้องชม เกรด A (เอ) ซึ่งเป็นตลาดที่มีความพร้อมในทุกด้าน ได้แก่ โครงสร้าง ทัศนียภาพ ความสะอาด การมีส่วนร่วมของชุมชน มีกิจกรรมของตลาดซึ่งแสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตในท้องถิ่น รวมทั้ง มีกิจกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระบุรี จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดน้ำหลวงปู่ทวด ตลาดกรุงศรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลาดริมทาง ศูนย์ผลไม้เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล และตลาดหัวปลี จังหวัดสระบุรี

                ตลาดประชารัฐต้องชมเหล่านี้ล้วนมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน เช่น ตลาดน้ำหลวงปู่ทวด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จัก และอยู่ริมถนนทำให้การเดินทางสะดวก ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งเป็นรอยต่อของ อ.บางปะหัน  อ.มหาราช  จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ป่าโมก อ.เมือง จ.อ่างทอง ชุมชนเป็นตลาดที่มีหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่พระเถระคู่แผ่นดินอยุธยา เพราะได้เข้าถึงบรรยากาศแบบย้อนยุค ร่มรื่น มีลมพัดเย็นตลอดเวลา  ยังมีร้านค้าของชาวบ้าน และอาหารให้ชิมมากมาย โดยมีร้านค้าเด่น ได้แก่ ร้านทองม้วน ร้านปลาร้าสับน้ำลายสอ ร้านก๋วยเตี๋ยวกะโหลกกะลา และร้านน้องแอร์ ผัดไทยลิเก  ตลาดริมทาง ศูนย์ผลไม้เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา  ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ ใกล้เขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย  แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และจุดเช็คอินยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ด้วยทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบ อยู่ริมถนนมิตรภาพ ทางสายหลักของประเทศ ประตูสู่อีสาน-ทางผ่านเข้าเมืองหลวง ใกล้แหล่งท่องเที่ยวมากมาย จึงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว  แม้จะใช้ชื่อ “ตลาดศูนย์ผลไม้”  แต่มีหลากหลายสินค้าในชุมชน อาทิ ผัก ผลไม้ ประจำฤดูกาล เช่น น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง องุ่น อะโวคาโด มะม่วง  เสาวรส  ข้าวโพดหวานขึ้นชื่อ หน่อไม้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปทั้งของในและนอกจังหวัด เช่น ขนมกระหรี่ปั๊บคำเดียว โมจิ หรือเครื่องดื่มยอดฮิตอย่าง น้ำข้าวโพด น้ำองุ่นสด และของฝากที่หลากหลาย จึงกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอิน  ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล จังหวัดสระบุรี เป็นตลาดริมแม่น้ำป่าสัก ชุมชนไทยวน ที่อพยพมาจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2347 ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชน   ที่ใช้เวลาว่างหารายได้เสริมในวันอาทิตย์ ในบรรยากาศเมืองเหนือทั้งการตกแต่งซุ้มขายของ การแต่งกายของพ่อค้าแม่ค้า สินค้าที่ขายล้วนแต่คงไว้ซึ่งจุดเด่นของล้านนา จุดเด่น อาหารพื้นเมืองที่หาทานยาก อาทิ หมี่ไทยวน ไข่ป่าม การแสดงฟ้อนรำประกอบ เสียงสะล้อ ซอ ซึง และบรรยากาศภายในล้านนาแบบเป็นกันเอง ตลาดหัวปลี  จังหวัดสระบุรี  เป็นตลาดสไตล์บ้านๆ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่  ใกล้กรุงเทพฯ  ซึ่งนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาเที่ยวกันมากมายหลังเปิดตัวได้ไม่นาน ตั้งอยู่ด้านในศูนย์ OTOP คอมเพล็กซ์ พุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี นอกจากเป็นที่ตั้งของตลาดแล้ว ยังเป็นจุดแวะซื้อของฝากของนักท่องเที่ยวได้เดินเลือกซื้อสินค้าในบรรยากาศสวนกล้วยอันร่มรื่นและสิ่งสำคัญเป็นตลาดที่งดใช้โฟมและถุงพลาสติกโดยใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ  มาใช้ใส่บรรจุอาหาร  ละลานตาด้วยของกินมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเมลอนตัดมาจากสวนสดๆ ไอดิน ฟาร์มเมล่อน, กะหรี่ปั๊บ, อินทผาลัมจากไร่เกษตรสีทอง ของกินพื้นบ้าน ของฝากพื้นเมือง พร้อมสัมผัสธรรมชาติร่มรื่น จุดเช็คอินประทับใจ โซนดอกกล้วยไม้ จุดถ่ายภาพยอดฮิต  ทุ่งดอกกระเจียว  ตลาดน้ำกรุงศรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นที่ตั้งของตลาดน้ำในบรรยากาศร่มรื่นริมน้ำและตลาดบก โดยจำลองค่ายสมเด็จพระนเรศวร และมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนเรศวรตอนประกาศอิสรภาพ ประดิษฐานบริเวณหน้าค่าย  เพื่อเป็นที่สักการะบูชา และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของจังหวัด มีการแสดงย้อนยุคประวัติศาสตร์ของจังหวัด อาทิ ฟันดาบ สาธิตการสู้รบสงครามไทย-พม่า กิจกรรมขี่ม้าชมตลาด พ่อค้าแม่ค้าแต่งกายชุดไทยย้อนยุคแบบโบราณ มีสินค้าชุมชนสินค้าเกษตร สินค้า OTOP อาหารปรุงสำเร็จของผู้ประกอบการมาจำหน่ายสินค้า เช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือ น้ำตาลสด ไอศกรีมกะทิเนื้อทราย กะละแมกรุงศรี โรตีสายไหม ของฝากของที่ระลึกและอาหารปรุงสำเร็จให้ชิมมากมาย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพระนครศรีอยุธยาใกล้แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น

          อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาเป็น “ตลาดประชารัฐต้องชม” ใน 5 องค์ประกอบ คือ 1) สถานที่ ทำเล ที่ตั้งต้องความสะอาด ถูกสุขาภิบาลตลาด 2) สินค้า เป็นสินค้าพิ้นถิ่น มีความหลากหลาย และเป็นผลผลิตจากคนในชุมชน  3) การประกอบการค้า มีความเป็นธรรมทางการค้า 4) ความพร้อมของตลาด และ 5) ลักษณะเฉพาะที่เป็นจุดเด่นของตลาดทั้งด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยวหรือกิจกรรมสนับสนุนวัฒนธรมท้องถิ่น รวมทั้งกรมฯ ได้มีการจัดเกรดตลาดประชารัฐต้องชม  เพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาแต่ละตลาดแตกต่างกัน ตามการจัดแบ่งกลุ่มตลาดออกเป็น 3 เกรด  คือ เกรด A  เกรด B และเกรด C ตามสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก และความพร้อมของตลาด พร้อมกับกำหนดกรอบแนวทางในการพัฒนาตลาดแต่ละเกรดไว้ด้วย

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ  2562  กรมมีแผนส่งเสริมจัดตั้งตลาดประชารัฐต้องชมแห่งใหม่ จำนวน 10 แห่ง พร้อมจัดกิจกรรมกระตุ้นและเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าชุมชน การประชาสัมพันธ์ตลาด วิถีชีวิต ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของชุมชนในตลาดต้องชมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ  การจัดงานตลาดนัดประชารัฐต้องชม EXPO  การประชาสัมพันธ์ตลาดประชารัฐต้องผ่านช่องทางสื่อออนไลน์และออฟไลน์ต่างๆ  นอกจากนี้ได้การส่งเสริม ปรับปรุง และพัฒนาตลาด การจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพผู้ประกอบการในตลาด โดยการจัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการ และผู้ค้าในตลาดในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความแตกต่างและตอบสนองความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน แต่ยังความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนไว้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป