“อู่ทอง...ที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัดและพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม”



องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดย สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (อพท.๗) และ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด “อู่ทอง...ที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัดและพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม” 

     พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองให้บรรลุผล มีภารกิจคือ การพัฒนาอดีตที่รอการฟื้นคืนให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยการเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาในยุคทวารวดี และการพัฒนาประเพณี ศิลปวัฒนธรรมที่รอการฟื้นฟู ให้กลับมามีชีวิตชีวา ด้วยการพัฒนาคนและส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว การฟื้นคืนเมืองโบราณอู่ทอง เป็นภารกิจที่ยากยิ่ง เนื่องด้วยความเก่าแก่ของยุคสมัยและกาลเวลาที่ผ่านไปนับพันปี ซึ่ง อพท. ได้ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาชน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ มาจนถึงปัจจุบัน

  1. การฟื้นคืนคูเมืองโบราณอู่ทองและแม่น้ำจรเข้สามพัน โดยร่วมมือกับกรมศิลปากร กรมชลประทานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำเมืองโบราณอู่ทอง
  2. การสำรวจใต้ดินเพื่อค้นหาทะเลโบราณ ชายฝั่งโบราณ แหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยทวารวดี โดยร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณี
  3. พัฒนาชุมชนลูกปัดอู่ทอง ลูกปัดอู่ทองเป็นโบราณวัตถุที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองโบราณ     อู่ทองกับเมืองโบราณอื่นทั่วโลก โดยร่วมมือกับชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เมืองโบราณทวารวดีอู่ทองส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาสินค้าและเครื่องประดับลูกปัดอู่ทองให้เป็นที่ต้องการของนักสะสมลูกปัด
  4. ฟื้นคืนแหล่งโบราณสถาน ด้วยการสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะ ทั้งที่มีอยู่เดิมและแห่งใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของชาติไทย โดยร่วมมือกับกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยศิลปากร
  5. จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับเยาวชนเมืองโบราณ     อู่ทอง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่๑ – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โดยร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต ๒

ฟื้นคืนเรื่องพุทธศาสนาระยะเริ่มแรกและลูกปัดทวารวดี เพื่อให้ ได้หลักฐานทางวิชาการและเชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิดในภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติกับเมืองโบราณอู่ทอง โดยได้รับเกียรติจาก มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญและภาคีเครือข่าย ในการดำเนินงานหลายโครงการร่วมกับ อพท.

      นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ สืบเนื่องจากงานด้านโบราณคดีที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ทำไว้ที่รอบอ่าวบ้านดอนที่ชี้ว่าผู้คนในแผ่นดินนี้ ได้รับพระพุทธศาสนาจนถึงขั้นรุ่งเรืองในสมัยศรีวิชัยเมื่อ ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ควรที่ชาวพุทธจะได้ภาคภูมิใจ โดยหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ได้สานต่อด้วยการศึกษาเรื่องปฐมบทพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเมื่อครั้งเฉลิมฉลองพุทธชยันตี เมื่อ อพท.๗ ชวนให้ทำการศึกษาเรื่องลูกปัดจึงได้เสนอให้เป็นการศึกษาคู่กันกับรอยพระพุทธศาสนาแรกเริ่มด้วย เพราะที่อู่ทองมีหลักฐานการสถาปนามั่นคงของพระพุทธศาสนาในสมัยทวารวดีแล้ว โดยได้เชิญ อาจารย์ภูธร ภูมะธน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ทำการศึกษาและเรียบเรียงซึ่งยืนยันว่าการพบหลักฐานพระพุทธรูปและพระสาวกศิลปกรรมแบบอมราวดีมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐ ที่      อู่ทองนั้นแสดงถึงการเข้ามาถึงและประดิษฐานตั้งมั่นแล้วในพุทธศตวรรษนั้น มีทั้งลัทธินิกายหินยาน มหายาน และตันตระยาน (วัชระยาน) โดยแต่ละลัทธิยังแบ่งเป็นนิกายต่าง ๆ เช่น นิกายมูลสรรวาสติวาท นิกายสัมมิตียะ นิกายเถรวาท และจากจารึกหลักธรรมที่พบซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ ผู้คนในแถบนี้ใช้คำบูชาหรือบทนมัสการพระพุทธเจ้า หลักอริยสัจจ์ หลักปฏิจจสมุปบาท โดยยังมีหลักฐานสำคัญที่น่าสนใจที่อู่ทอง ประกอบด้วยพระพุทธรูปที่เก่าที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย รวมทั้งพระพุทธรูปปางหายากอาหูยมุทรา พบพระพิมพ์มากถึง ๑๕ รูปแบบ กับยังพบพระพิมพ์พระสาวกที่เป็นเอตทัคคะ พระอสีติสาวกรวมถึงพระเมตไตรย ธรรมจักรองค์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย รวมทั้งรูปพระเจ้าสุทโธทนะอีกด้วย