GIT จัดประกวดออกแบบเครื่องประดับ พร้อมการประกวดพลอยเจียระไนระดับโลกปั้นนักออกแบบ และ ช่างเจียระไนพลอย รุ่นใหม่ ชิงเงินรางวัลกว่าล้านบาท



สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดงานแถลงข่าว การประกวดออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ 13 (GIT’s World Jewelry Design Awards 2019) และ การประกวดพลอยเจียระไน เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดสามารถของนักออกแบบ และ ช่างเจียระไนพลอยรุ่นใหม่ สู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการในปัจจุบัน โดย มีนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นประธาน ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ห้อง Chadra Ballroom 1

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบัน GIT เปิดเผยว่า โครงการประกวดออกแบบเครื่องแบบ ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ  "Blue by Day, Green By Evening, Red by Night” เน้นการออกแบบเครื่องประดับที่มีอัญมณีน้ำเงิน อัญมณีสีแดง หรือ อัญมณีสีเขียว เป็นองค์ประกอบหลักในชิ้นงาน อีกทั้งยังได้จัดการประกวดพลอยเจียระไน สำหรับช่างเจียระไนพลอยในจังหวัดจันทบุรี และช่างเจียระไนจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเจียระไนรวมถึงช่างเจียระไนได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือให้เข้าสู่วงการมาตรฐานระดับโลก ชิงเงินรางวัล มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท หรือ 35,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ โดยปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดออกแบบเครื่องประดับ กว่า 300 แบบวาดจากทั่วโลก ซึ่งในปีนี้เราหวังว่าจะมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมส่งผลงานมากกว่า 800 ผลงาน จากทั่วโลก

ที่ผ่านสถาบันได้การจัดประกวดไปแล้ว 12 ครั้ง สามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่นักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก อาทิ นางสาวสุพัจนา ลิ่มวงศ์ ผู้ชนะเลิศการประกวดในปี 2018 ภายใต้หัวข้อ The Pearl of Wisdom – Illumination from under the Surface ที่ปัจจุบันสามารถก่อตั้งแบรนด์ La Orr Ornaments ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องประดับร่วมสมัยระหว่างโลหะมีค่าและผ้าไหม ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้

และนางวิชุดา แตระพรพาณิชย์ ผู้ชนะเลิศการประกวดในปี 2013 ภายใต้หัวข้อ Cubism จากการเป็นแม่บ้านและนักออกแบบอิสระ ปัจจุบันได้เปิดธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของตนเอง ในชื่อแบรนด์ Wida Jewelry เป็นงานเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองฝังอัญมณีแท้ ซึ่งมีการออกบูธทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิเช่น งาน Mega Show 2018 ณ ประเทศฮ่องกง และงาน Tokyo Fashion World 2019 ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

การประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 13 นี้ เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ อาทิ นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักออกแบบมืออาชีพ สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ – 1 สิงหาคม 2562  และจะทำการตัดสินรอบคัดเลือกในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ โดยจะคัดเลือก 30 ผลงานออกแบบ และ 8 ชิ้นงานที่ได้คะแนนสูงสุดไปผลิตเป็นเครื่องประดับจริง โดยการประกวดแบ่งออก 3  ประเภท คือ รางวัลประเภทเครื่องประดับที่ใช้พลอยทับทิบ หรือพลอยไพลิน หรือพลอยเนื้ออ่านในเฉดสีที่ใกล้เคียง รางวัลประเภทเครื่องประดับที่ใช้พลอยเพริโด หรือพลอยเฉดสีใกล้เคียง และรางวัลประเภท Popular Design Award 2019 โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวด จะต้องส่งออกแบบผลงานแบบวาดที่ตรงกับหัวข้อ จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 ชิ้นใน 1 ชุดหรือคอลเลคชัน เช่น ต่างหู แหวน กำไล เป็นต้น และสามารถส่งผลงานได้ท่านละไม่เกิน 3 คอลเลคชัน  โดยสามารถส่งผลงานการออกแบบตัวจริง หรือส่งไฟล์ภาพผลงานการออกแบบ ผ่านเว็บไซต์ www.gitwjda.com หรือส่งผลงานมายังสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เลขที่ 140,140/1-3, 140/5 อาคาร ITF Tower ชั้น 3 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2562

สำหรับการประกวดพลอยเจียระไน แบ่งการประกวดออกแบบ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ รางวัลประเภทช่างเจียระไนจันทบุรี และ ช่างเจียระไนพลอยทั่วไป โดยผู้เข้าแข่งขันสามารถส่งพลอยที่เจียระไนแล้วมายังสถาบันได้ท่านละไม่เกิน 2 เม็ด โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันสามารถใช้พลอยสังเคราะห์ หรือพลอยเนื้ออ่อน  โดยไม่จำกัดสี และจำนวนเหลี่ยมเจียระไน ขนาดความยาวพลอยประมาณ 25 มิลลิเมตร โดยเจียระไนเป็นรูปทรง Cushion และ Fancy Cut (Mixed Cut)  พลอยทุกเม็ดจะต้องบรรจุกล่องให้เรียบร้อย โดยมีรายละเอียดที่ชัดเจน และสามารถส่งได้ด้วยตนเอง หรือส่งไปรษณีย์มายังสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

“สถาบันกำหนดจัดงานตัดสินรอบชิงชนะเลิศทั้งสองประเภท ในเดือน กันยายน 2562 และจัดงานประกาศผลและมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดออกแบบเครื่องประดับ และประกวดพลอยเจียระไน พร้อมด้วยนิทรรศการแสดงผลงานของผู้เข้าประกวด ภายในงานแสดงสินค้า “เทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2019” เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประกวดครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบ และ ช่างเจียระไนพลอย สู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีไทยให้ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร” นางดวงกมล เจียมบุตร กล่าวปิดท้าย