นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรีจับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPAเปิดตัว ห้องเรียนรู้อัจฉริยะแห่งแรกในนิคมฯอมตะซิตี้ชลบุรี หวังเป็นศูนย์กลางพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลรองรับเมืองอัจฉริยะแห่



​นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในงานพิธีเปิดห้องเรียนรู้อัจฉริยะ (DEPA AMATA Smart Classroom)  และAMATA SMART City Showcase นิคมอมตะซิตี ชลบุรี ในวันนี้ (24 สิงหาคม )  ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีที่กลุ่มอมตะได้ดำเนินการถือเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ตามนโยบายยุทธศาสตร์ 20 ปี  ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร ที่จะต้องให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆมาใช้ในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

“ทั้งนี้การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย เป็นหนึ่งใน 12นโยบายหลักของรัฐบาล   ซึ่ง โครงการนี้ตอบโจทย์ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์ แบบเปิดที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ตอบสนองกับความต้องการตลาดแรงงานในอนาคต สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาประเทศยุคเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคตหรือยุค 4.0”

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ อมตะ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า (DEPA) ในการเปิดห้องเรียนรู้อัจฉริยะ (DEPA AMATA Smart Classroom) และ AMATA SMART City Showcase ซึ่งตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัลโดยต้องเร่งพัฒนาบุคคลากรที่สามารถรองรับกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี ) ที่ต้องก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆมาใช้ในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

“ โครงการห้องเรียนรู้อัจฉริยะนับเป็นความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ถือเป็นครั้งแรกของอมตะ ในความความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ในเป้าหมายการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ให้ได้ 100,000 คนในระยะ 2 ปีข้างหน้า โดยเริ่มต้นจากปี 2562 ที่คาดว่าจะสามารถให้การฝึกอบรม บุคลากรได้ทันทีจำนวน 12,000 คน”

ในส่วนของความคืบหน้า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) คาดว่าจะเริ่มพัฒนาโครงการต่างๆ ภายใต้สมาร์ทซิตี้ ในปลายปี 2562 หลังจากที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงาน สถาบันการศึกษา และองค์กรจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น สวีเดน และ จีน ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ และให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีใช้งบประมาณสูงถึง 3.8-4.6 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP ) ขณะที่ไทยเริ่มให้ความสำคัญในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี และปัจจุบันได้เตรียมพร้อมการลงทุนในระบบสาธารณูปโภค เพื่อการวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะการเพิ่มพูนทักษะของบุคลากร ให้สามารถรองรับกับภาคการผลิตที่มีการใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ซึ่งแรงงานไทย เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ สามารถยกระดับความรู้ความสามารถให้ทัดเทียมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และเป็นเทคโนโลยีที่เป็นเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อมตะ ในการเปิดตัวห้องเรียนอัจฉริยะ ยังได้มีการจัดแสดง แผนการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ในรูปแบบ อมตะสมาร์ทซิตี้โชว์เคส ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมของเมืองอมตะสมาร์ทซิตี้โดยมีบริษัทชั้นนำเข้าร่วมจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ Yokohama Urban Solution Alliance (YUSA), Jiangsu Smart City Construction Management, SAAB, Nissan, Delta, HitachiLumada Center เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ได้มีการจัดทำเป็นโมเดลเพื่อชี้ให้เห็นรูปแบบ และการวางระบบสาธารณูปโภค ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมที่สมบรูณ์แบบ

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ทาง DEPA ให้การสนับสนุนโครงการห้องเรียนรู้อัจฉริยะ ในพื้นที่นิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภาคอุตสาหกรรมให้มีทักษะด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น10,000 คนต่อปี และมีเป้าหมายระดับประเทศในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งในระดับทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือ Literacy Skillและ ระดับมืออาชีพหรือProfessional Skill อยู่ที่ 40,000 คนต่อปี โดยภายใน 5 ปีจากนี้ ประเทศไทยจะมีทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัลทั้งสิ้น180,000 คน