วช. นำทีมเสนอผลวิจัยเสริมแนวทางรัฐ บริหารจัดการน้ำแก้วิกฤตภัยแล้ง



สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จัดแถลงข่าวผลการสัมมนา “ภาวะแล้ง 2020 และแนวทาง มาตรการ บริหารจัดการเพื่อป้องกันในอนาคต” ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ  โดยมี ศ.นพ.สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนา  และ รศ.ดร.สุจริต  คูณธนกุลวงศ์ ประธานบริหารแผนงานโครงการยุทธศาสตร์เป้าหมาย Spear Head ด้านการบริหารจัดการน้ำ วช.  จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รศ.ดร.บัญชา  ขวัญยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน)  และ ดร.ไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ อนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลี่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ด้านการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ร่วมการแถลงข่าว


ศ.นพ.สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวว่า จากภาวะแล้งที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง จึงควรกลับมาทบทวนถึงสาเหตุของการเกิดภาวะแล้งในเชิงวิชาการ และแนวทางการแก้ไขบรรเทาภาวะดังกล่าว ว่ามีประเด็นใดที่ยังขาด หรือควรเพิ่มเติม นอกจากมาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถวางมาตรการเสริมจากที่พึงมีในแง่วิชาการ  วช. จึงได้จัดทีมวิชาการที่มีการศึกษา วิจัยเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมานำเสนอแนวทางการดำเนินการในระยะสั้น คือภายในสิ้นปีนี้  ทั้งในแง่การจัดหาน้ำ การจัดสรรน้ำ มาตรการด้านผู้ใช้ และการบูรณาการมาตรการต่างๆ  ส่วนมาตรการในระยะยาวจะเป็นความเห็นที่ได้จากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานนโยบาย ผู้ปฏิบัติ ผู้บริหารในพื้นที่ นักวิชาการ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเนื้อหาวิชาการและแนวทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะแล้งในระยะยาว  การจัดเสวนาครั้งนี้จึงเป็นการเสนอข้อมูลสภาภาวะแล้งปี 2020 และผลวิจัยสนับสนุนแนวทางบรรเทาปัญหา เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหา  ทาง วช. จะนำข้อเสนอที่ได้จากการประชุมไปสู่การวางแผนวิจัยในอนาคต  และเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดมาตรการ นโยบายที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของประเทศ

รศ.ดร. สุจริต  คูณธนกุลวงศ์ กล่าวว่า จากความแปรปรวนของสภาพอากาศทั่วโลก  ทำให้หลายภูมิภาคมีปริมาณน้ำฝนน้อยลงอย่างต่อเนื่อง  สำหรับในประเทศไทยสาเหตุของภัยแล้งมาจากสถิติของสองด้านใหญ่ๆ คือ ปริมาณน้ำฝนลดลง  ทั้งปริมาณเฉลี่ยตลอดปี  ปริมาณน้ำฝนในหน้าแล้ง และปริมาณน้ำฝนที่ตกเมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงถึงร้อยละ  30  43 และ 27 ตามลำดับ  ทำให้ปริมาณน้ำเข้าเขื่อนน้อย  ประกอบกับการคาดการณ์ช่วงเวลาที่ฝนจะตกคลาดเคลื่อน ทำให้แผนการปล่อยน้ำจากเขื่อนมีมากกว่าแผนที่กำหนดถึง 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) วันนี้เราเหลือปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้ได้ 3,000 ล้าน ลบ.ม.  แต่ต้องกันไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค 2,500 ล้าน ลบ.ม.  เหลืออีก 500 ล้าน ลบ.ม. สำหรับภาคเกษตรที่จำเป็นในภาคกลาง  แต่ ณ วันนี้เรามีการเพาะปลูกไปแล้ว 3.5 ล้านไร่  มีประมาณ 2 ล้านไร่ ที่สามารถพึ่งแหล่งน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งบ่อบาดาลได้  เหลืออีก 1.5 ล้านไร่ ในภาคกลางอาจจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ  ซึ่งปริมาณน้ำที่เหลือ 500 ล้าน ลบ.ม. จะสามารถช่วยจุนเจือได้อีกประมาณ 600,000 ไร่ในระยะสั้น  เน้นการแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภค บริโภคเป็นหลัก ยังต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่จัดสรรรองรับ และจะต้องมีระบบการกระจายน้ำที่ดี  สำหรับพื้นที่ที่เหลือ โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ  จำเป็นต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งบ่อบาดาลเป็นหลัก สำหรับการทบทวนมาตรการที่รัฐดำเนินการ  พบว่ายังมีช่องว่างที่ควรปรับปรุงในหลายประเด็น โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมระดับพื้นที่ การกำหนดมาตรการลดการใช้น้ำอย่างเป็นระบบ (การมีรอบเวรในการหรี่น้ำ และลดความดัน ฯลฯ)  และมีแหล่งน้ำสำรอง เกษตรทางเลือก อาชีพสำรอง เพื่อการรับมืออย่างมีสติ  การจัดการระบบข้อมูล  ควรมีการเพิ่มกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลโดยให้พื้นที่ได้มีองค์ความรู้ในการสังเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ด้วยตนเอง เพื่อได้ทราบสถานการณ์ และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาวของพื้นที่ตนเองได้  ทั้งนี้ รวมถึงกลไกการสั่งการ การปล่อยน้ำ และการเชื่อมโยงจากส่วนกลางผ่านจังหวัด ลงสู่พื้นที่


รศ.ดร. บัญชา ขวัญยืน กล่าวว่า วิกฤตด้านน้ำยังมีความเสี่ยงอยู่อย่างต่อเนื่อง  สำหรับทางออกในระยะยาว จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างการใช้น้ำให้มีความสมดุล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ และเพิ่มผลผลิตของการใช้น้ำไปด้วยกัน โดยใช้มาตรการด้านผู้ใช้ไปพร้อมกับมาตรการจัดหา และมาตรการจัดการ เช่น กำหนดโควตาการใช้น้ำตามพื้นที่และปีน้ำ พร้อมตารางการลดน้ำตามภาวะน้ำในแต่ละรูปแบบ  ซึ่งชุมชนจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในพื้นที่ที่ตกลงร่วมกัน เพื่อการปรับตัวอย่างยั่งยืนบนความแปรปรวนในอนาคต  ในส่วนของภาครัฐ ควรจัดทำแผนการปรับโครงสร้างการใช้น้ำในอนาคต 10 ปี แต่ละลุ่มน้ำ  ลุ่มน้ำย่อย และพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจ และมีกระบวนการมีส่วนร่วม (ให้ข้อมูล ให้ความรู้ มีระบบสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร) ทั้งในระดับชาติ ลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำย่อย พื้นที่ และนำตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป


ดร. ไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ กล่าวว่า การแก้ปัญหาภัยแล้งมีลักษณะเฉพาะ  แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น  จำเป็นต้องให้ท้องถิ่นมีความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ภายใต้การสนับสนุนเพิ่มเติมจากส่วนกลางและจังหวัด เป็นการเสริมพลังจากข้อมูลทางวิชาการ การจัดมาตรการจากส่วนกลาง