สวทช. จัดกิจกรรม​Site Visit to Lab พาคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Fabrication Labหรือ​FabLab ณ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี​ ​โชว์ผลดี​FabLab​ส่งเสริมนักเรียนอาชีวะพัฒนาทักษะเรียนรู้เครื่องมือเครื่องจักร​ สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเด่นหลายอย่าง​ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19​ วิทยาลัยฯได้จัดโครงการจิตอาสาใช้เครื่องมือของFabLab จัดทำอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์มอบแก่8โรงพยาบาลในเขตจังหวัดลพบุรี​ รวมถึงอุปกรณ์เฟซชีลด์ จากเครื่องพิมพ์3มิติ​ ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอ็กซ์วายแซด​ พริ้นติ้ง(ประเทศไทย)​ จำกัด​

ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผอ.สวทช.-นายเรวัช ศรีแสงอ่อน​ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี

 

ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.สายงานพัฒนากาลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดเผยว่า​ การดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (FabLab) ของ สวทช. สืบเนื่องมาจากปี 2561 ครม. อนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อภาคสังคมอย่างกว้างขวาง (Big Rock Project) ซึ่งสวทช. ได้รับหน้าที่ดำเนินการโครงการ​ FabLab โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย

โครงการฯนี้ ส่งเสริมให้มีการจัดพื้นที่การเรียนรู้ “โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) หรือ FabLab อย่างที่ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี นี้ขึ้น ซึ่งมี FabLab แบบนี้กระจายอยู่ใน 68 จังหวัด 150 สถานศึกษา ทั้งโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา 100 แห่ง และ วิทยาลัยเทคนิคอีก 50 แห่ง เพื่อพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงาน โดยฝึกทักษะการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรม และเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจ และสนใจในความเป็นนวัตกรต่อไปในอนาคต

สำหรับการสนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆ ใน FabLab นั้น ทักษะเชิงวิศวกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเยาวชนไม่ได้หยิบจับใช้งาน ฝึกปฏิบัติการกับเครื่องมือต่าง ๆ ใน FabLab อาทิ เครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อการเรียนรู้ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องมือวัดค่าต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งตรงนี้โครงการฯ ต้องขอขอบคุณ STEM Lab ซึ่งเป็น Lab ต้นแบบ โดยเฉพาะเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ แต่สำหรับกลุ่มสถานศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนั้น ด้วยการเรียนการสอนเชิงทักษะช่าง ซึ่งเยาวชนในสถานศึกษาเหล่านี้ ล้วนมีความสามารถและมีศักยภาพในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ยากนักในการใช้งาน สิ่งที่ท้าทายต่อไปคือการประดิษฐ์ สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ออกมา ตรงนี้ FabLab เราอยากเห็นและให้ความสำคัญเป็นลำดับต่อไป

และจากสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่าทั่วโลก รวมถึงประเทศของเรา ต่างต้องเจอความยากลำบากอย่างมาก นักรบแนวหน้าของเราคือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต้องทำงานต่อสู้อย่างหนัก ในวิกฤตินี้มีหลายหน่วยงานได้ช่วยผลิตและจัดทำเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลต่าง ๆ ใช้ในการป้องกันเบื้องต้น และใช้ปฏิบัติงานในการตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทาง บริษัท เอ็กซ์วายแซดพริ้นติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ร่วมเป็นผู้สนับสนุนในกิจกรรมการประกวด FabLab2020 ทราบถึงเรื่องนี้ จึงได้มอบเครื่องพิมพ์สามมิติ ให้กับ FabLab สถานศึกษาในโครงการฯ และ FabLab บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. รวมจำนวน 20 เครื่อง พร้อมวัสดุการพิมพ์ หนึ่งในนั้นเป็นที่ FabLab วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ที่นี่ด้วย

นายเรวัช ศรีแสงอ่อน​ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีกล่าวว่า​ โครงการFabLab.เราได้รับการอนุเคราะห์จากสวทช.​ โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)​เป็นพี่เลี้ยง​ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีเพราะเวลาที่นักเรียนมีความคิดที่จะปฏิบัติ​ทำให้นักเรียนนักศึกษาไปสู่การปฏิบัติได้มากขึ้น​ และที่ผ่านมาห้องนี้เป็นห้องที่ช่วยประชาชน​ช่วยหน่วยงานภาครัฐได้ดี​ ​โดยทำอุปกรณ์หลายอย่างที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19​ เช่น​ ตู้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทุกแห่งต้องการ​โดยมีคณะครูและนักเรียนมาช่วยกัน

โครงการนี้ยังดีต่อวิทยาลัย​เมื่อผู้ปกครองเห็นว่านักเรียนนักศึกษาทำได้​ทำให้มีเด็กมาเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น​ ซึ่งจะช่วยพัฒนาประเทศได้มากขึ้น​ ขณะเดียวกันนักศึกษายังมีความรู้และทักษะเป็นที่ต้องการของตลาดงาน​ การได้ฝึกปฏิบัติในห้องFabLab ทำให้พร้อมทำงานในสถานที่จริงได้เลย​ ​ซึ่งปัจจุบันวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีมีนักเรียนนักศึกษามากกว่า7, 500คน​ ถือว่ามากที่สุดในประเทศ​ ทั้งจังหวัดมีระดับปวช.และปวส.ประมาณ​ 20,000​ คน

“อยากให้โครงการนี้มีอยู่ต่อไป​เพราะมีประโยชน์ต่อวงการอาชีวะเป็นอย่างมาก”

 


ด้าน​ อ.จำเนียร บัวแดง อาจารย์ประจำโครงการ FABLAB วิทยาลัยเทคนิคลพบุรีกล่าวถึงแนวทางการใช้ห้อง FabLab ของวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีว่า​ จะมีครูดูแลคล้าย ๆ ห้องสมุดกลาง จำนวน 1 ท่าน ได้แก่ อ.สุธรรม ทรัพย์น้อย คอยให้คำแนะนำแก่นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการมาใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ในห้อง FabLab โดยเน้นเรื่อง Safety first หรือความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือเป็นอันดับแรก และเรายังมีการเก็บข้อมูลสถิติการใช้งานห้องคล้าย ๆ ห้องสมุด แต่จะเน้นการใช้งานอุปกรณ์ เครื่องมือช่างเพื่อเสริมสร้างความรู้ให้นักเรียนของเราเป็นนวัตกรต่อไป​ในอนาคต

องค์ความรู้ที่เราได้จากพี่เลี้ยง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในโครงการ FabLab คือ การใช้งานเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในห้อง FabLab มีการอบรมการออกแบบ สร้างฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ระบบนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำมาถ่ายทอดต่อให้กับนักเรียนของวิทยาลัย ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

สำหรับผลงานเด่น ๆ ที่ได้รับรางวัลและชื่อเสียงของวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ตัวอย่างเช่น เครื่องดูแลต้นบอนไซอัตโนมัติ เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุลืมทานยา ทั้งสองผลงานได้รับรางวัลจากสวทช.และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และที่ภูมิใจที่สุดในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 วิทยาลัย​เราได้ทำจิตอาสา จัดทำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือทางแพทย์แก่โรงพยาบาลในเขตลพบุรีมากมาย อาทิ โรงพยาบาลพระนารายณ์ โรงพยาบาลบ้านหมี่ เป็นต้น รวม 8 แห่ง รวมถึงยังได้มอบตู้และกล่องป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโควิด-19 จำนวน 44 ชิ้น อุปกรณ์ face shield จำนวนประมาณ 2,000 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือของห้อง FabLab ทั้งสิ้น

นายวรกร​ บุญประสิทธื์ผล​ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย​ บริษัทเอ็กซ์วายแซดพริ้นติ้ง(ประเทศไทย)​ จำกัด​ เปิดเผยว่า​ ในการสนับสนุนโรงเรียน​ สถาบันการศึกษาต่างๆ​ เรามุ่งเน้นด้านการพัฒนาบุคลากรของประเทศ​ แต่เด็กที่อายุน้อย​ เราจะให้เขาค่อยๆเรียนรู้เทรโนโลยีไปเรื่อยๆ​ซึ่งเป็นไปตามนโยบายประเทศไทย​ 4.0​ ของรัฐบาล​ซึ่งทำโครงการนี้ผ่านสวทช.และร่วมมือกับบริษัทเอ็กซ์วายแซดฯ​ เพื่อที่จะนำ​เครื่องพิมพ์ 3D ส่งไปให้โรงเรียนต่างๆเพื่อผลิตชิ้นงาน​เพื่อพัฒนาทุนต่อไป​ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19​ โรงเรียนในโครงการทั้งหมดได้มีการใช้เครื่องพิมพ์ไปทำประโยชน์​ผลิตหน้ากากเฟซชีลด์​ไปบริจาคและประชาชนใกล้เคียง​ และนอกจากความร่วมมือกับทางโรงเรียนและสวทช.แล้ว​เรายังได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์พยายามพิมพ์ชิ้นงานพวกนี้เพื่อไปสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดได้ใช้งานเหมือนกัน

สำหรับเครื่องพิมพ์3D​ นอกจากสามารถพิมพ์ชิ้นงานได้แล้ว​ เรายังสามารถไปสนับสนุนด้านการษึกษาต่างๆได้อีก​ โดยสิ่งที่เราจะทำคือ​ เรามีห้องแล็บที่จังหวัดสมุทรสาครที่สามารถจัดคอร์สอบรมสั้นๆให้แก่นักเรียน​ นักศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ​ เพราะนอกจากเราจะมีเครื่องพิมพ์รุ่นนี้ที่มีขนาดเล็กแล้ว​ ยังมีเครื่องขนาดใหญ่ใหญ่​ ทำให้นักเรียนระดับปวช.​ ปวส.​ ปริญญาตรีมีความรู้ใช้งานเครื่องมือเหล่านี้​พร้อมสำหรับป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อไป​ สิ่งนี้เป็นแผนในอนาคตที่จะนำเครื่องพิมพ์3Dสู่ประชาชนมากขึ้น​ องค์กรต่างๆที่สนใจคอร์สอบรมก็สามารถติดต่อมาได้

สำหรับตัวอย่างผลงานสร้างสรรค์ของนักเรียนจากFabLab มีดังนี้

โครงงานที่ 1 เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ​ผลงานของนาย ศิลปะชัย พัดจิ๋วและนาย กิตติภูมิ พังพิศ แนวคิดการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาการลืมรับประทานยาของผู้สูงอายุและอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้สูงอายุ

เคยได้รับรางวัลหลายอย่าง​ ดังนี้

รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ในการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ ของ อาชีวศึกษาจังหวัดลพบุรี
ได้เข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ระดับภาค ได้รับรางวัลระดับเหรียญเงิน
ได้เข้าร่วมการประกวด กิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ของ สถาบันวิจัยแห่งชาติ


โครงงานที่ 2 เครื่องดูแลต้นบอนไซผลงานของนางสาว พรกนกวรรณ ต่ายโต
นาย อรรถภูมิ มะยมทองและนายสุกฤษฎิ์ กลิ่นดอกแก้ว​ พัฒนาเพื่อทำหน้าที่รดน้ำ และให้แสงแดด กับต้นบอนไซ แทนผู้เลี้ยงบอนไซ ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งรูปร่างลักษณะของตู้ยังสวยงามเป็นเครื่องประดับบ้านได้

รางวัลที่เคยได้รับ

เข้าร่วมการประกวดวันนักประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง
เข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ ระดับจังหวัด อาชีวศึกษาจังหวัดลพบุรี

โครงงานที่ 3 การใช้งานเครื่องมือใน FabLab สร้างชิ้นงานของนักเรียนวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี​โดยใช้เครื่องปริ้นเตอร์ 3 มิติและเครื่องตัดเลเซอร์ของห้องปฏิบัติการ FabLab ช่วยในสร้างชิ้นงานเพื่อการเรียนรู้ด้านการออกแบบชิ้นงาน นำไปสู่การปฏิบัติงานจริง ตัวอย่างเช่น การออกแบบชั้นใส่ เอกสารในสำนักงาน และการสร้างอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์

โครงงานที่ 4 การใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ใน FabLab เพื่อสร้างสื่อจำลองการทำงานของเครื่องจักรอัตโนมัติของนักเรียนวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี​ในการฝึกทักษะในสาขาวิชาช่างเทคนิคจะมีการออกแบบระบบการทำงานในสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้นักเรียนได้เห็นภาพของระบบโรงงานอุตสาหกรรมชัดเจนก่อนออกไปทำงานจริง นักเรียนสามารถใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ FabLab เช่น สว่าน เลื่อย คีม เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องปริ้นเตอร์ 3 มิติ เป็นต้น การสร้างสื่อจำลองของเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อศึกษาการทำงาน