วช.หนุนทีมวิจัย มจธ. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสาร โดยใช้นวัตกรรมวัสดุนาโนสีเขียวแก่นักนิติวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ชี้จุดเด่นราคาถูก สามารถผลิตขึ้นเองได้อย่างง่ายและรวดเร็ว ช่วยลดการน



ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  เปิดเผยว่า เอกสารที่ถูกปลอมแปลงจากแหล่งต้องสงสัย ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายคดีความ และจากสถิติคดีศาลยุติธรรมทั่วราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2558  ยังพบว่าความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารมีมากสุดถึง 95% ของความผิดที่เกี่ยวกับการปลอมแปลงในคดีอาญาทั้งหมด และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี

ดังนั้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการ “ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสารแบบไม่ทำลายตัวอย่างโดยใช้นวัตกรรมวัสดุนาโนสีเขียวแก่นักนิติวิทยาศาสตร์ ” เพื่อให้เกิดการนำเอาองค์ความรู้ที่สมบูรณ์แล้วไปขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และยังช่วยลดงบประมาณในการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศอีกด้วย 

สำหรับเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสารแบบไม่ทำลายตัวอย่างโดยใช้นวัตกรรมวัสดุนาโนสีเขียวที่เรียกว่า Green colloidal SERS  เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปี 2564 โดยมี ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นหัวหน้าโครงการ และมีผู้ร่วมประดิษฐ์ประกอบด้วย ดร.นพดล นันทวงศ์ และ ดร.พิทักษ์ เอี่ยมชัย  จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พ.ต.อ.หญิง ศิริพร จันทขันธ์  จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนางสาวอภิญญา เกตุก้อง จาก มจธ.

ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม  และรองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า   การปลอมแปลงเอกสารที่เป็นความผิดในคดีอาญาซึ่งมีลักษณะที่มีการต่อเติมหรือเขียนแทรก เช่น การปลอมแปลงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินของธนาคาร โฉนดที่ดิน หนังสือเดินทาง และหนังสือพินัยกรรมนั้น ในบางกรณีจำเป็นต้องตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงโดยการเปรียบเทียบชนิดของหมึกพิมพ์หรือหมึกปากกา 

ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดของวิธีการตรวจแบบเดิม ๆ เช่น การใช้เครื่อง VSC ที่แสดงให้เห็นแค่ความแตกต่างในการตอบสนองต่อแสงระหว่างหมึกปากกาที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ ไม่สามารถตรวจเปรียบเทียบชนิดของหมึกได้ หากหมึกปากกาในบริเวณต้องสงสัยเรืองแสงเหมือนกัน หรือไม่เรืองแสงเหมือนกัน  และแม้จะมีการนำเทคนิคต่าง ๆ มาใช้เพิ่มขึ้น แต่ยังมีต้องสกัดหมึกปากกาออกมาจากเอกสารเพื่อตรวจพิสูจน์ เป็นการทำลายสภาพเอกสาร ทำให้เกิดความยุ่งยากในขั้นตอนการตรวจพิสูจน์ อีกทั้ง ยังต้องทำการขออนุญาตจากศาลก่อนทำลายสภาพเอกสาร

ปัจจุบันหน่วยงานด้านการตรวจพิสูจน์เอกสาร จึงได้นำเทคนิครามานสเปกโทรสโกปี ( Raman spectroscopy หรือ RS )  มาประยุกต์ใช้ในการตรวจพิสูจน์หมึกปากกาบนเอกสารได้โดยตรง   โดยเป็นการตรวจพิสูจน์แบบไม่ทำลายตัวอย่างและสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของหมึกปากกาได้

ผศ.ดร.เขมฤทัย กล่าวว่า เนื่องจากการใช้เทคนิค RS ในการตรวจพิสูจน์หมึกปากกา ยังมีความไวต่ำ จึงมีการนำเทคนิคพื้นผิวขยายสัญญาณรามาน ( SERS ) ด้วยการนำพื้นผิวของอนุภาคนาโนโลหะเข้ามาช่วยในการขยายสัญญาณรามานและลดสัญญาณรบกวน  ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในเชิงพาณิชย์มีการพัฒนาตัวขยายสัญญาณเป็น 2 รูปแบบคือ  รูปแบบแผ่นรองรับสำหรับขยายสัญญาณรามาน ( SERS – substrate ) และรูปแบบของคอลลอยด์สำหรับขยายสัญญาณรามาน ( colloidal SERS ) เพื่อออกมาจำหน่าย

สำหรับ SERS – substrate แม้จะสามารถขยายสัญญาณรามานได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ ยุ่งยากในการสร้าง มีราคาแพง ในขณะที่ colloidal SERS สามารถเตรียมขึ้นโดยใช้กระบวนการที่ง่ายกว่าและมีราคาถูกกว่า แต่มีอายุการใช้งานที่สั้นและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

“ทีมวิจัย จึงร่วมกันพัฒนานวัตกรรม Green colloidal SERS ขึ้น สำหรับจำแนกหมึกปากกาในงานตรวจพิสูจน์เอกสารต้องสงสัย โดยมีราคาถูก สามารถผลิตขึ้นเองได้อย่างง่ายและรวดเร็ว ด้วยเครื่องไมโครเวฟ โดยใช้เวลาในการเตรียมเพียงแค่ 3 นาที ใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีภายในประเทศไทย และมีอายุการใช้งานนานกว่า 6 เดือน สามารถนำ Green colloidal SERS ไปหยดลงบนหมึกปากกาบนวัตถุพยานประเภทเอกสาร ณ ตำแหน่งต้องสงสัยได้โดยตรง แล้วนำไปตรวจวัดด้วยเครื่องรามานสเปกโทรสโกปีได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้แห้ง   สารขยายสัญญาณรามานที่พัฒนาขึ้นนี้ จะไม่ทำละลายหมึก ตัวอักษร ที่อ่านได้ยังคงลักษณะเดิม จึงไม่จำเป็นต้องทำลายสภาพเอกสารเพื่อสกัดหมึกออกมาตรวจวัด โดยการตรวจหนึ่งตำแหน่งจะใช้สารในราคาเพียง 25 สตางค์ เท่านั้น”

นักวิจัย กล่าวว่า  นวัตกรรมดังกล่าวสามารถขยายสัญญาณรามานได้มากกว่า 10 เท่าของสัญญาณรบกวน ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของหมึกปากกา สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการจำแนกโมเลกุลองค์ประกอบ สีของหมึกปากกา และประเภทของตัวทำละลายซึ่งจะบ่งบอกถึงชนิดของหัวปากกา เช่น ปากกาลูกลื่น ปากกาหมึกซึม และปากกาโรลเลอร์บอล ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกัน เพื่อชี้ให้เห็นว่าเอกสารต้องสงสัยนั้นถูกปลอมแปลงหรือไม่ โดยการตรวจพิสูจน์จากหมึกปากกา

การผลิต Green colloidal SERS หรือ สารสำหรับขยายสัญญาณเพื่อการตรวจพิสูจน์หมึกปากกาด้วยวิธีรามานสเปกโทรสโกปี ได้เองนี้ ถือเป็นเพิ่มศักยภาพในการตรวจพิสูจน์หลักฐานของหน่วยงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ จากการสนับสนุนของ วช. ทีมวิจัยจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต Green colloidal SERS และกระบวนการตรวจพิสูจน์หมึกปากกาแบบไม่ทำลายวัตถุพยานเอกสารและไม่ทำละลายหมึกปากกา ให้แก่ตัวแทนเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจเอกสารและกลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง และศูนย์พิสูจน์หลักฐานทั้ง 10 ศูนย์ ทั่วประเทศไทย เพื่อประโยชน์เชิงความมั่นคง และยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้แก่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจกับหน่วยงานที่มีเครื่องรามานสเปกโตรมิเตอร์ซึ่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ให้ผู้ปฏิบัติงานประจำเครื่องมือสามารถสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้ในอนาคต.