วช. ชี้แจงกรอบการวิจัย ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จ NRCT Open House 2022



วช. เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม


ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนในปี 2566 ระหว่างวันที่ 12 – 19 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และออนไลน์ผ่านวีดีทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

วันที่ 14 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ 
วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ประจำปีงบประมาณ 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจและการเกษตร NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของ วช. และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. ด้านเศรษฐกิจและการเกษตรโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดงานชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House ระหว่างวันที่ 12 – 19 มิถุนายน 2565 ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่สาม จะเป็นด้านเศรษฐกิจและการเกษตร การสร้างการรับรู้ รวมถึงการแนะนำการเขียนข้อเสนอทางการวิจัยในประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเกษตร เน้นการเพิ่มมูลค่า ความต้องการทางการตลาด โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนช่วยในการยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตร การทำเกษตรแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า สมาร์ทฟาร์มมิ่ง เน้นการสร้าง องค์ความรู้ การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สู่การวางแผนให้สอดคล้องกับปริมาณผู้บริโภค ประเด็นการพัฒนาเกษตรฐานราก การพัฒนาธุรกิจในรูปแบบ SME การพัฒนาเชิงการทำงานในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ร่วมกันกับทุกภาคส่วนประเด็นที่มุ่งเน้นผลไม้เพื่อการส่งออกตอบรับภาคการเกษตรสร้างคุณภาพให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร วช. วางกลไกให้ตรงกับประเด็นผู้บริโภค ตรงประเด็นความต้องการของตลาด โดยนำผลงานของงานวิจัยและนวัตกรรม โดยการต่อยอดและขยายผล​ การเจาะตลาดในประเทศจีนหลังสถานการณ์โควิด การนำผลไม้ไทยเจาะตลาดจีน การยืดอายุผลิตภัณฑ์ผลไม้สด การสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้ โดยนำชุดข้อมูลความรู้มาหนุนเสริม การนำจุลินทรีย์เข้ามามีส่วนช่วยโดยรูปแบบการขยายผลสารอาหารที่ช่วยต้านมะเร็งนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ในครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 โดยในปีงบประมาณ 2566- 2570  วช. ได้รับมอบหมาย จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้ดำเนินการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2  ยุทธศาสตร์ ดังนี้  1) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และ 2) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม วช. มุ่งมั่นการสร้างนักวิจัยอาชีพที่สามารถสร้างองค์ความรู้และผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงในระดับสากล ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการขยายเครือข่ายวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูงต่อไป

ทั้งนี้กิจกรรมภายในงาน มีการเสวนา เรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2566” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพันธุ์ แก้วสมพงษ์ ศาสตราจารย์ ดร.โสระยา ร่วมรังษี รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร อิศวิลานนท์

นอกจากนี้ยังมีนำเสนอวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ NRIIS และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจและการเกษตร และแลกเปลี่ยประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติพงษ์ โตบันลือภพ ดร.นพรัตน์ อินถา ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ ดร.จันทร์จนา ศิริพันธ์วัฒนา ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการและแนวทางในการพัฒนาเส้นทางอาชีพวิจัยและนวัตกรรม โดยกิจกรรม NRCT Open House2022 : ด้านเศรษฐกิจและการเกษตรเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ เน้นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ในทุกมิติและทุกแง่มุม รวมถึงภาคเศรษฐกิจและการเกษตรโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยสู่การใช้ประโยชน์การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาประเทศชาติได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน