สทน. ประสบผลสำเร็จทดลองเดินเครื่องไทยโทคาแมค-1 สร้างกระแสพลาสมาอุณหภูมิสูง 1 แสนองศาเซลเซียส เป็นเวลา 100 มิลลิวินาที พร้อมวิจัยพัฒนาให้ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในอนาคต



สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  หรือ สทน. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of sciences : ASIPP) หรือ สถาบัน : ASIPP ในการรับมอบเครื่องโทคาแมคจากประเทศจีนนำมาใช้ศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากการจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นเพื่อสร้างให้เกิดพลาสมาอุณหภูมิสูง ซึ่งเป็นการจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์  ฟิวชันซึ่งเกิดตามธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ให้เกิดขึ้นบนโลก เพื่อใช้ศึกษาวิจัยพลาสมาอุณหภูมิสูงในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและฟิวชันซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสําหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต และนวัตกรรมที่ได้สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และด้านการแพทย์ ซึ่งจากการพัฒนาเครื่องโทคาแมคนี้จะทําให้ประเทศมีองค์ความรู้และสามารถสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมระบบรางของไทยในอนาคตได้อีกด้วย โดยเครื่องโทคาแมคที่ได้รับมอบจากสถาบัน ASIPP ได้ส่งมาถึงท่าเรือแหลมฉบังเมื่อเมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2566 และ สทน. ได้ดำเนินการขนย้ายจากท่าเรือแหลมฉบังมายัง สทน. เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2566 เพื่อติดตั้งในอาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทยเครื่องนี้จะมีชื่อว่า ไทยโทคาแมค-1 (TT-1)  หลังจากติดตั้งเครื่องโทคาแมคเรียบร้อยแล้ว  สทน. ได้ทดลองเดินเครื่องปรากฏว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
 
รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เริ่มติดตั้งเครื่อง ไทยโทคาแมค1- การดำเนินการติดตั้งเป็นไปตามแผนงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญและทีมวิศวกรจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ จากประเทศจีน ร่วมด้วยทีมงานจาก ศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง ของ สทน. และทีมวิศวกรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  โดยช่วงแรกทีมงานร่วมกันประกอบชิ้นส่วนของเครื่องเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงดำเนินการเกี่ยวกับระบบ power supply ปัจจุบันการดำเนินการทั้ง 2 ส่วนแล้วเสร็จเมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจึงเป็นการปรับแต่งและทดสอบการเดินเครื่อง และเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 17 ปีการจัดตั้ง สทน. ทางคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้อง นำโดย Prof. Luo Jiarong ทีมวิศวกรจากทั้ง สทน. และ กฟผ. ได้ทดลองเดินเครื่องไทยโทคาแมค-1 กระตุ้นให้ก๊าซไฮโดรเจนแตกตัว กระทั่งเข้าสู่สถานะพลาสมาได้สำเร็จเป็นครั้งแรก สามารถสร้างกระแสพลาสมา 2,200 แอมแปร์ เป็นระยะเวลานานประมาณ 5 มิลลิวินาที จึงนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ โดยมีทีมงานจาก กฟผ. ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทย ร่วมสังเกตการณ์

หลังจากการเดินเครื่องสำเร็จครั้งแรกทีมงานของ สทน. ได้ทดลองเดินเครื่องอย่างต่อเนื่อง ซื่งปัจจุบันเครื่องไทยโทคาแมค-1 สามารถเดินเครื่องได้นานสูงสุดถึง 100 มิลลิวินาที โดยผลิตพลาสมาอุณหภูมิสูงราว 1 แสนองศาเซลเซียส ซึ่งเครื่องไทยโทคาแมค-1 นี้จะเปิดเดินเครื่องเป็นทางการในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 นี้

เนื่องจากเทคโนโลยีพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชัน เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย  การจัดเตรียมหาบุคลากรเพื่อมารองรับจึงเป็นเรื่องสำคัญ  สทน. จึงได้ร่วมกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งจากประเทศจีน  ฝรั่งเศส  ญี่ปุ่น และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ  และหน่วยงานเครือข่ายในประเทศ จัดอบรมความรู้ให้ความรู้ด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชัน  เพื่อเป็นการเตรียมตัวนักวิจัย หรือบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรม สำหรับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและยกระดับการเป็น ศูนย์กลางการประสานงานของภูมิภาคในด้านพลาสมาและฟิวชันของประเทศไทย สทน. ตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 10 ปีจะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเอง รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันและกำลังคนระดับสูงด้านเทคโนโลยีฟิวชันของอาเซียน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี