พม.จังหวัดตรัง จัดโครงการประชุมสมัชชาครอบครัวจังหวัดตรัง ประจำปี 2566



วันศุกร์ที่  22  กันยายน  2566  ณ ห้องนครินทร์บอลรูม โรงแรมรัษฎา อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง 
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง  จัดโครงการประชุมสมัชชาครอบครัวจังหวัดตรัง ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อความสุขของครอบครัว”  โดยมีนางสาวโสพิญฐ์  สุวรรณหงส์  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ  และมีนางจิรพา  เรนเรือง หัวหน้ากลุ่มการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้กล่าวรายงานสรุปความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ  ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  (อปท.) คณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนระดับตำบล  อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) วิทยากร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้สังเกตการณ์ รวม 150 คน กิจกรรมประกอบด้วยการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น หัวข้อ “สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว การบรรยายให้ความรู้แนวทางการขับเคลื่อนมาตรฐานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน และการอภิปรายกลุ่ม หัวข้อ “การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อความสุขของครอบครัว

นางสาวโสพิญฐ์  กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการทำงาน ปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม  และในปี พ.ศ. 2566 ยังพบว่าจำนวนการจดทะเบียนสมรสลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สถิติการหย่าร้างมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ทำให้โครงสร้างของครอบครัวหรือรูปแบบครัวเรือนที่เปลี่ยนไป ครอบครัวมีรูปแบบในมิติที่หลากหลาย เช่น ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวเดียวกันที่แยกกันอยู่ ครอบครัวขยาย ครอบครัวข้ามรุ่น ครอบครัวแหว่งกลาง ครอบครัวที่ผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ครัวเรือนเปราะบาง  เป็นต้น  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงมีภารกิจสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย โดยมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสตรีและครอบครัว เพื่อสนับสนุนและยกระดับการทำงานด้านสตรีและครอบครัวในพื้นที่แบบบูรณาการ สร้างความเข้มแข็งของสตรีและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ การขับเคลื่อนกลไกการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ระดับจังหวัด การส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายสตรี การจัดเก็บข้อมูลครอบครัว การรณรงค์ยุติความรุนแรงในเด็ก สตรี และครอบครัว การเปิดโอกาสและยอมรับจากครอบครัวในเรื่องความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยมีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน ร่วมกับภีเครือข่ายในพื้นที่  

นางสาวโสพิญฐ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดโครงการในวันนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินงานด้านครอบครัวอย่างสร้างสรรค์ และจัดทำสรุปข้อเสนอมติสมัชชาครอบครัวระดับชาติ จังหวัดตรัง ประจำปี 2566 เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับครอบครัวต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมในวันนี้ ได้มีมติสมัชชาครอบครัวจังหวัดตรัง ปี 2566 ดังนี้
1. ควรจัดให้การประชุมหารือโดยมีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระดับของผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ซึ่งมีความใกล้ชิดประชาชน
2. ควรกำหนดประเด็นด้านครอบครัวในเทศบัญญัติของท้องถิ่น เพื่อให้มีการพัฒนากลไกชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ องค์ความรู้ในท้องถิ่น
3. ควรจัดสถานที่หรือพื้นนที่สาธารณะในการเรียนรู้และส่งเสริมครอบครัว เพื่อลดพื้นที่เสี่ยง ต่อเด็กและครอบครัว 
4.การออกแบบสภาพแวดล้อมที่มีความสุข ควรเริ่มจากครอบครัวของตนเอง ส่งเสริมการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว โดยให้ครอบครัวใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน
5.ควรมีงบประมาณในการสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และทั่วถึงในทุกปี 

นางสาวโสพิญฐ์  กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดโครงการฯ ในวันนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ มูลนิธิ ภาคประชาสังคม    ภาคประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น ที่จะเป็นภาคเครือข่ายสานพลังทางสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน และร่วมกันในการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว และขอขอบคุณผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง

ทั้งนี้ พม.ตรัง พร้อมขับเคลื่อนงานด้านสังคมและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และวันนี้ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ขอเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมการอบรมทุกคน ช่วยกัน แอดไลน์ ESS  ซึ่งเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ติดมือถือไว้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือทุกคนได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย/ข่มขู่ว่าจะทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้ายสามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA  ที่ช่วยสร้างความปลอดภัย แก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อน แอดไลน์ @esshelpme  หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย