สมาคมภัตตาคารไทยเผยการจัดแมทชิ่งเดย์ประสบความสำเร็จ “เชื่อมร้านค้า-ผู้ผลิต-เกษตรกร”



 ผลการจัดงานแมทชิ่ง เดย์ เชื่อมโยงธุรกิจร้านอาหาร-วัตถุดิบ-ผู้ผลิตสินค้า ประสบความสำเร็จล้นหลาม ผู้สนใจแห่เข้าร่วมกว่า 500 คน พร้อมเปิดยุทธศาสตร์ฝ่าวิกฤตธุรกิจอาหารด้วยยุทธศาสตร์เจ๋ง

         นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ผลของการจัดงานใหญ่ของสมาคม Network is Power "Matching Day คู่หูดี มีแต่รุ่ง ครั้งที่3“ เมื่อวันเสาร์ที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวบรวมกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร – ผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวเนื่องกับร้านอาหารเป็นสินค้าการเกษตรจากเกษตรกรตัวจริง และผู้ผลิตวัตถุดิบนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูง

         โดยงานนี้มีผู้ประกอบธุรกิจอาหารร่วมงานจำนวนกว่า 500 ราย ซึ่งช่วยเชื่อมต่อธุรกิจระหว่างซัพพลายเออร์และผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มช่องทางความมั่งคั่งให้กับธุรกิจ และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรเป็นการนำนโยบายประชารัฐมาสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน นำอาหารไทยสู่อาหารโลก

          ภายในงานมีการเสวนาและออกร้านให้ชิมอาหารหลากหลาย รวมถึงมีการนำเกษตรกรจากจ.กาญจนบุรีมาจำหน่ายสินค้าเกษตรและจับคู่เพื่อซื้อ-ขายกับเจ้าของร้านอาหารต่างๆ โดยในงานได้รับเกียรติจากพลโทเทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาค1 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติท่านแม่ทัพภาค 1 เป็นประธาน

        นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาในอีกหลากหลายหัวข้อและมีการออกร้านให้ชิมอาหารหลากหลาย รวมถึงมีการนำเกษตรกรมาออกร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรและจับคู่เพื่อซื้อ-ขายกับเจ้าของร้านอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่สมาพันธ์ SME ไทยกำลังจับมือกับสมาคมภัตตาคารไทยกำลังนำไปขยายผลในจังหวัดต่างๆอีกด้วย

        กิจกรรมพิเศษ ภายในงานมีกิจกรรมพิเศษ “Digital Matching” นำเสนอเทคโนโลยีใม่ เพียงสแกน QR code ก็สามารถสร้างเครือข่ายธุรกิจพร้อมเจรจาได้ทันที ในงาน Matching ในครั้งนี้มีทั้งผู้ขายพบผู้ซื้อและผู้ซื้อพบผู้ขายได้ในเชิงลึก จากองค์กรต่างๆประมาณ 30 บูธและสินเชื่อสุดพิเศษจากธนาคารกสิกรไทยพร้อมให้คำแนะนำต่างๆ

        ส่วนการเสวนาโดยกูรูที่มีถึง3หัวข้อ ได้แก่"มุมมองซัพพลายเออร์ต่อธุรกิจร้านอาหารในไทยและเออีซี โดยนายพงษ์ชัย เฉิดมนูเสถียร จากธุรกิจค้าข้าว นายสมฤกษ์ ตั้งวิรุฬห์ธรรม จาก  ธุรกิจสินค้าเกษตร และนางสาวจุฑามาศ อรุณานนท์ชัย จากธุรกิจค้าน้ำตาลกล่าวว่า วิกฤตภัยแล้งไม่น่ากระทบต่อราคาวัตถุดิบและสินค้าเกษตร เนื่องจากมีสต๊อกเพียงพอถึงฤดูกาลต่อไป ส่วนการรวมตัวของธุรกิจอาหารประเภทเอสเอ็มอีจะส่งผลดีต่อการจัดการของซัพพลายเออร์ เพราะเมื่อมีการสั่งซื้อจำนวนมากจะช่วยลดต้นทุนขนส่งสินค้า

       การเสวนาหัวข้อ "ฝ่าวิกฤตธุรกิจอาหารด้วยยุทธศาสตร์สุดเจ๋ง" โดยทีมกูรูจากสถาบันแฟรนไชส์อาหารเช่นนายชรัว ชรัวอังศุธร แนะให้ผู้ร่วมเสวนาทำเวิร์ตชอปหาSWOTจุดดีจุดด้อยของตัวเองเพื่ กำหนดยุทธศาสตร์ของตัวเองในอนาคต

       ส่วนการเสวนาในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์การเงินการธนาคาร นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา จากม.มหิดล และนายวีระกิตต์ เจริญวิห์พันธ์ จากธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าเอสเอ็มอีคือผู้กำหนดตลาดและราคาตัวจริง แต่วันนี้เอสเอ็มอีต้องมีนวัตกรรมที่มีคุณภาพให้ต่างชาติยอมรับ

       ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนร้านอาหารกว่า 4 แสนร้านอาหารทั่วประเทศไทย มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากมูลค่าของนักท่องเที่ยวประมาณ 7 แสนล้านบาท และการบริโภคภายในประเทศประมาณ 7 แสนล้านบาท

      สำหรับผลสรุปของการจัดงานครั้งนี้สามารถสอบถามได้ที่โทรศัพท์084-7172264 หรือ อีเมลล์networkispower@gmail.com