เล็บสวยสุขภาพดี ไม่ใช่เรื่องยาก



เล็บสวยสุขภาพดี ไม่ใช่เรื่องยาก

พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี

หัวหน้ากลุ่มงานเส้นผมและเล็บ สถาบันโรคผิวหนัง

และประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

ในยุคสมัยที่สาว ๆ มักนิยมเข้าร้านทำเล็บหรือสปาเล็บ เพื่อรับบริการตัดแต่งเล็บแบบสุดประทับใจ เพื่ออวดความหลากหลายของแฟชั่นที่สร้างสีสรรค์สวยงามขึ้นบนปลายนิ้วงามนั้น อวัยวะเล็ก ๆ ที่เรียกว่าเล็บ เปรียบเสมือนปราการด่านหนึ่งที่ช่วยปกป้องผิวหนังชั้นใต้เล็บ และทำหน้าที่สำคัญในการหยิบจับสิ่งของ การมีเล็บสุขภาพดีย่อมบ่งบอกถึงสุขภาพร่างกายที่ดีและแข็งแรงด้วย ในขณะเดียวกันเล็บที่มีลักษณะผิดปกติ ก็ถือเป็นอาการอย่างหนึ่งที่ร่างกายพยายามจะบอกเราว่า ถึงเวลาดูแลเล็บได้แล้วนะ โดยเฉพาะสาวๆ ที่ชอบต่อเล็บ ทาสีเล็บ ล้างมือบ่อย ๆ หรือทำงานบ้านที่ทำให้เล็บแช่น้ำเป็นประจำ ต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย  จึงขอฝากคำแนะนำ การดูแลสุขภาพเล็บที่ดี  เพื่อให้หมั่นสังเกต และดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นสำคัญ

เล็บสุขภาพดี/ไม่ดี สังเกตอย่างไร

เล็บ  เป็นอวัยวะเล็กๆ ตรงปลายนิ้ว ที่แม้จะมีพื้นที่ไม่มากนัก แต่ก็มีความสำคัญและบ่งบอกถึงความเอาใส่ใจตัวเองของผู้เป็นเจ้าของได้ไม่แพ้ส่วนอื่นใดในร่างกาย แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเล็บแบบไหนที่เรียกว่าสุขภาพดี

 “เล็บที่มีสุขภาพดี คือ เล็บที่มีสีผิวของเนื้อข้างใต้เล็บเป็นสีชมพูอ่อนๆ พื้นผิวเล็บเรียบไม่ขรุขระ ผิวหนังรอบเล็บไม่ถอยร่น เป็นขุยหรือมีผื่น เนื้อเล็บมีความหนาพอดีๆ ไม่มากหรือน้อยไป และแข็งแรงพอที่จะใช้หยิบจับของได้ ส่วนเล็บที่ผิดปกตินั้น ต้องสังเกตว่าเป็นที่ตัวเล็บหรือผิวหนังรอบๆ เล็บ เนื่องจากผิวหนังรอบเล็บ อาจมีส่วนทำให้ผิวเล็บเกิดความผิดปกติได้เช่นกัน ปัญหาที่พบบ่อย คือปลายเล็บบาง แตกเปราะง่าย ซึ่งมักเกิดกับคนที่ทำเล็บเป็นประจำ ล้างมือบ่อยหรือผู้ที่มีการใช้เล็บกับน้ำมากเกินไป อีกกรณีคือผิวหนังรอบเล็บมีอาการบวมแดง เล็บจึงดูเปลี่ยนแปลงไป เช่น เป็นขุย มีสีเขียว รอบเล็บขรุขระเหมือนเป็นเชื้อรา แต่ไม่ใช่เชื้อรา อาการดังกล่าวมักเจอในแม่บ้านหรือคนที่ทำงานบ้านเอง เมื่อเล็บโดนน้ำยาทำความสะอาด ก็จะทำให้ผิวหนังรอบเล็บเปื่อย พอโดนสารเคมีซ้ำๆ จึงทำให้เกิดการอักเสบและบวมแดงได้”

 

สัญญาณเตือนจากเล็บ ที่ไม่ควรมองข้าม

เชื่อหรือไม่ว่า ส่วนเล็ก ๆ ของเล็บ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น มักจะนำความเจ็บปวด ไม่สวยงาม แถมยังส่งผลกระทบให้การทำกิจกรรมประจำวันเป็นไปด้วยความยากลำบาก สำหรับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเล็บนั้นขอแนะนำให้สาว  ๆ สังเกตได้เองจาก 3 กรณี คือ เล็บหนาผิดปกติหรือไม่ เช่น หนาบริเวณปลายเล็บ สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นโรคเชื้อราหรือโรคสะเก็ดเงิน โดยทั้งสองโรคนี้ มีความคล้ายคลึงแต่ต่างกันตรงที่ โรคเชื้อรามักเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เล็บ แต่สะเก็ดเงินมักเป็นหลายเล็บหรือเป็นหมดทั้งเล็บ นอกเหนือจากนี้  คืออาการเล็บบางและมีรูปร่างผิดปกติ เช่น มีลักษณะแอ่นเหมือนช้อน สันนิษฐานว่าอาจมีภาวะโรคเลือดจางหรือขาดธาตุเหล็ก และเล็บมีสีที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น เล็บขาวครึ่งเล็บ (หมายถึง ผิวหนังใต้เล็บมีสีผิดปกติ) เป็นลักษณะที่พบได้ในผู้มีภาวะไตวายเรื้อรัง และบวมน้ำ ซึ่งหากเป็นสีขาว 2 ใน 3 ของเล็บ มักเป็นอาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคตับแข็งหรือโรคหัวใจวาย สำหรับบางคนที่พบจุดขาว  ๆ ปรากฏบนเล็บ โดยเฉพาะหากเป็นหลาย ๆ เล็บ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายของคุณกำลังอยู่ในภาวะขาดสารอาหารบางอย่าง สำหรับวิธีที่ดีที่สุดคือการไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องและถูกกับโรค

ถนอมกันสักนิด เพื่อสุขภาพเล็บที่แข็งแรง

สำหรับสาว  ๆ ที่คลั่งไคล้การตกแต่งและต่อเล็บอยู่เป็นประจำ บางครั้งอาจทำให้คุณมองข้ามการบำรุงเล็บหรือไม่เคยปล่อยให้เล็บได้หยุดพักหายใจ ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลให้สุขภาพเล็บอ่อนแอลง ส่วนระยะสั้นปลายเล็บอาจมีอาการแตกหรือเป็นขุยลอก    ซึ่งล้วนแต่เป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาต้องพักเล็บบ้างแล้ว การทาสีเล็บบ่อยๆ อาจส่งผลให้สีเล็บเปลี่ยนแปลงได้ง่าย โดยเฉพาะยาทาเล็บสีแดงกับสีส้ม ที่ทำให้เล็บเหลืองได้ง่ายกว่าสีอื่นๆ นอกจากนั้น ผิวเล็บยังเสี่ยงต่อการทำลายจากสารเคมี บางแห้งและเปราะง่ายหรือตรงผิวเล็บหลุดลอกเป็นขุย และสำหรับบางคนที่มีอาการแพ้ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้รอบเล็บมีอาการบวมแดง หรือเจ็บบริเวณปลายนิ้วมือได้ด้วย ดังนั้นการทาสีเล็บจึงควรเว้นช่วงการทาสีครั้งใหม่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนการต่อเล็บไม่ควรทำต่อเนื่องกันนานกว่า 3 เดือน และควรเว้นสัก 1 เดือนก่อนจะต่อเล็บครั้งใหม่ นอกจากนี้ควรทาครีมบำรุง เพื่อช่วยลดความหยาบและลดขุยลงประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมื่อเห็นว่าเล็บกลับมาเป็นปกติแล้ว ก็สามารถทำได้ใหม่