นายก ตั้ง สวทน. - วช. เป็นเลขาฯ ร่วมซุปเปอร์บอร์ดปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม



        ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ให้สัมภาษณ์ หลัง คสช. ประกาศใช้มาตรา 44 ในการจัดตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยยกเลิกคณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ โดยให้
สวทน. และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกันเป็นกรรมการและเลขานุการสภานโยบายฯ โดยไม่ได้ยุบทั้ง 2 หน่วยงาน แต่อย่างใด

      ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า จากการยกเลิกคณะกรรมการ และตั้งสภานโยบายฯ ดังกล่าว โดยส่วนตัวเห็นว่าจะทำให้การพัฒนาระบบงานวิจัยและนวัตกรรมมีทิศทางที่ดีขึ้น มีการบูรณาการเป็นเอกภาพมากขึ้น ที่ผ่านมา สวทน. ในฐานะหน่วยงานกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศ รวมทั้งเสนอร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา วทน. ไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นอยู่แล้ว ส่วนการทำงานร่วมกันของ 2 หน่วยงาน ในฐานะเลขานุการร่วมนั้น ไม่น่าจะมีผลกระทบใด ๆ โดยสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะรัฐมนตรีทุกกระทรวง สถาบันวิจัย นักวิจัยสาขาต่าง ๆ จะมีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ 8 ท่าน และภาคเอกชน เข้าร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งจะทำให้สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติมีทิศทางการทำงานสอดคล้องต่อนโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้มากยิ่งขึ้น

        ดร.กิติพงค์ กล่าวต่อว่า ทิศทางการทำงานของ สวทน. ต่อจากนี้ คงต้องมีบทบาทหน้าที่เพิ่มมากขึ้นในฐานะเลขานุการร่วม ในการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมประเทศ การกำหนดทิศทางนโยบาย โรดแมพ ยุทธศาสตร์ระบบวิจัยและนวัตกรรม การปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานต่าง ๆ การปรับปรุงระบบกลไกการบริหารจัดการด้านงานวิจัยและนวัตกรรมประเทศ การจัดทำแผนพัฒนาบุคลากร วทน. การปรับปรุงระบบจัดสรรงบประมาณ และการประเมินติดตามผล การกำหนดมาตรการและแรงจูงใจด้านภาษี การปรับปรุงระบบกฎหมายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม นอกเหนือจากการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ๆ ที่ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ ที่ สวทน.กำลังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) การศึกษาปรับปรุงกฎหมายและสร้างแรงจูงใจเพื่อสนับสนุน Start up Thailand การปรับปรุงกฎหมายการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา การผลักดันให้เกิด HUB นวัตกรรมโดยการใช้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค รวมถึงความร่วมมือกับหลายหน่วยงานผลักดันกองทุนพัฒนานวัตกรรม ซึ่งตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S Curve) สู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม