ผู้ปกครอง 70.34% เชื่อว่าครูที่ลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมรุนแรงเกินกว่าเหตุนั้นเกิดจากความตั้งใจมากกว่าอารมณ์ชั่ววูบ ร้อยละ 53.4 ยอมรับว่ารู้สึกกลัว



ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการลงโทษนักเรียนของครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษา ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,133 คน

 

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า การลงโทษเด็กนักเรียนโดยครูอาจารย์จัดเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการอบรมสั่งสอนขัดเกลาจิตใจที่มีใช้กันมาตั้งแต่ในอดีตและเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในสังคม ซึ่งครูอาจารย์นิยมนำมาใช้ในการดูแลควบคุมเด็กนักเรียนภายในสถาบันการศึกษาเพื่อทำให้เด็กนักเรียนที่กระทำความผิดเกิดความหลาบจำและไม่กล้ากระทำความผิดซ้ำอีก รวมถึงเพื่อเป็นการปรามเด็กนักเรียนคนอื่นไม่ให้กระทำความผิดด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆอยู่เป็นระยะเกี่ยวกับครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมการลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมรุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งในหลายกรณีกลายเป็นการทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนให้บาดเจ็บรวมถึงทำให้เด็กนักเรียนเกิดความหวาดกลัวจนไม่อยากไปเรียนหนังสือ ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงผู้คนทั่วไปในสังคมจึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมของครูอาจารย์ที่เกิดขึ้นและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลงโทษด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมรุนแรงเกินกว่าเหตุของครูอาจารย์ให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้มีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาดมากกว่าการสั่งพักงานหรือสั่งให้ย้ายไปสอนยังสถาบันการศึกษาแห่งอื่น จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการลงโทษนักเรียนของครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษา

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหยิงร้อยละ 51.81 และร้อยละ 48.19 เป็นเพศชาย ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อการลงโทษเด็กนักเรียน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.49 เห็นด้วยว่าการลงโทษของครูอาจารย์ถือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการอบรมสั่งสอนเด็กนักเรียนในสถาบันการศึกษา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.86 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.65 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.52 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษด้วยวิธีการที่เหมาะสมของครูอาจารย์จะมีส่วนช่วยลดโอกาสที่เด็กนักเรียนผู้นั้นจะกลับมากระทำผิดในเรื่องเดิมซ้ำอีกได้  ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.84 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษด้วยวิธีการที่เหมาะสมของครูอาจารย์จะมีส่วนช่วยปรามเด็กนักเรียนคนอื่นมิให้กระทำผิดได้ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.73 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษของครูอาจารย์จะมีส่วนช่วยทำให้เด็กนักเรียนโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมและทำประโยชน์ให้กับประเทศได้

ในด้านความรับรู้ ความรู้สึก และความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุของครูอาจารย์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.19 ให้ความสนใจติดตามข่าวเกี่ยวกับครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมการลงโทษเด็กนักเรียนที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนได้รับอันตรายทั้งทางกาย/จิตใจ เช่น การขว้างสิ่งของใส่ การถีบ/เตะ การตบศีรษะ/ใบหน้า การชก/ต่อย เป็นต้น  ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.81 ไม่ให้ความสนใจ ขณะเดียวกันเมื่อทราบข่าวเกี่ยวกับครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมการลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ/หวาดกลัว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 33.63 รู้สึกโกรธ/โมโหครูอาจารย์เป็นอันดับแรก รองลงมามีความรู้สึกสงสารเด็กนักเรียนที่ถูกกระทำ/พ่อแม่ผู้ปกครองและรู้สึกสงสัยในข้อเท็จจริงซึ่งคิดเป็นร้อยละ 18.36 และร้อยละ 16.59 ตามลำดับ

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.4 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกลัวว่าบุตรหลานของท่านจะถูกครูอาจารย์ลงโทษด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนได้รับอันตราย ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.34 มีความคิดเห็นว่าการที่ครูอาจารย์ลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ/หวาดกลัวนั้นเกิดจากความตั้งใจมากกว่าอารมณ์ชั่วงูบ

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการย้ายให้ไปสอนยังสถาบันการศึกษาแห่งอื่นกับการให้หยุดการสอนของครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ/หวาดกลัวนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.08 มีความคิดเห็นว่าควรให้หยุดการสอน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.92 มีความคิดเห็นว่าควรให้ย้ายไปสอนยังสถาบันการศึกษาแห่งอื่น ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 57.37 มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดบทลงโทษกับผู้บริหารสถาบันการศึกษาของครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมการลงโทษเด็กนักเรียนที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ/หวาดกลัวด้วย  กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.16 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดวิธีปฏิบัติในการลงโทษเด็กนักเรียนของครูอาจารย์ไว้อย่างชัดเจนจะมีส่วนช่วยลดปัญหาพฤติกรรมการลงโทษที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ/หวาดกลัวของครูอาจารย์ได้ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.31 มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดให้ประเมินความมีวุฒิภาวะ/ลักษณะสภาวะทางอารมณ์/ความพร้อมของจิตใจของครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาเป็นประจำ