ยกระดับขอทาน กระตุ้นความสามารถ เสริมทักษะ สร้างความเข้าใจ ใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน “พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดินหน้าขับเคลื่อน ใช้ช่องทาง สร้างอนาคต ด้วยความสามารถแทนการขอทาน
เมื่อบ่ายวันที่ 10 มกราคม 2561 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานงานแถลงข่าวการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถ “Thailand Public Talent Show” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้แสดงความสามารถได้พัฒนาทักษะความสามารถ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ เป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางในการจ้างงานให้กับผู้แสดงความสามารถ ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
พลเอก อนันตพร กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ในการจัดระเบียบ คุ้มครอง พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทาน และแยก “ผู้แสดงความสามารถ” ออกจากผู้ทำการขอทานอย่างชัดเจน เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้แสดงความสามารถได้พัฒนาทักษะ และยกระดับการแสดงสู่มืออาชีพ สามารถดำรงตนในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
ทั้งนี้ จากสถิติการออกบัตรผู้แสดงความสามารถ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2559 ถึง 29ธันวาคม 2560 พบว่า มีผู้มาทำบัตรผู้แสดงความสามารถ 2,682 ราย แบ่งเป็น 6 ประเภทตามความสามารถ ได้แก่ ดนตรี 2,366 ราย นาฏศิลป์ 162 ราย ศิลปะ 8 ราย กายกรรม 4 ราย ละคร 2 ราย และอื่นๆ เช่น การแสดงมายากล เต้น Break Dance 140 ราย กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย
พลเอก อนันตพร กล่าวอีกว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ “ผู้แสดงความสามารถ” จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยจัดกิจกรรมพัฒนาผู้แสดงความสามารถให้มีมาตรฐานอย่างมืออาชีพ โดยจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2552 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาทักษะและมาตรฐานการแสดงในที่สาธารณะ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ระดับจังหวัด ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถในพื้นที่ เช่น การจัดหาสถานที่ในชุมชนเพื่อให้ผู้แสดงความสามารถมีพื้นที่ในการแสดงเพิ่มมากขึ้น สร้างการรับรู้และพัฒนาพื้นฐานผู้แสดงความสามารถระดับพื้นที่ ส่งเสริมการมีงานทำ ระดับภาค จัดตั้งศูนย์กลางการพัฒนาความสามารถเฉพาะด้าน (Hub) โดยนำร่อง 2 ด้าน ประกอบด้วย
1) ด้านดนตรี ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ดำเนินการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และความร่วมมือจากสถาบันดนตรีคนตาบอดเป็นวิทยากรให้ความรู้
2) ด้านหมอลำ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นดำเนินการ โดยได้รับความร่วมมือจากแม่ครูฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดง หมอลำ จังหวัดขอนแก่น เป็นวิทยากรให้ความรู้ระดับประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้แสดงความสามารถได้แสดงศักยภาพ โดยจัดกิจกรรมตลาดนัดผู้แสดงความสามารถ Public Talent Show 2018 และส่งต่อไปยังสถาบันดนตรีชั้นนำระดับประเทศต่อไป
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะทำบัตรผู้แสดงความสามารถ สามารถติดต่อที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ส่วนภูมิภาคติดต่อที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด และผู้แสดงความสามารถที่ประสงค์เข้ารับการพัฒนาทักษะความสามารถเฉพาะด้านดนตรี/หมอลำ/มโนราห์ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดทุกจังหวัด หรือ Facebook : Beggar in Thailand