วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และรองศาสตราจารย์ ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาขยะล้นโลกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาอย่างหนักอยู่ในปัจจุบันจากข้อมูลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยติด 10อันดับแรกของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก โดยกว่าครึ่งหนึ่งที่ไหลลงมหาสมุทรนั้น
เป็นพลาสติกที่ย่อยสลายยาก และเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่า ปริมาณขยะที่ประเทศไทยสร้างขึ้นอยู่ที่ 28.7 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปี พ.ศ. 2561 อยู่ 3% โดยถูก คัดแยก ณ ต้นทางและจำกัดอย่างถูกต้องรวม 22.9 ล้านตัน แต่ยังเหลือขยะอีก 5.8 ล้านตัน คิดเป็น 20% ของขยะทั้งหมด กลายเป็นปัญหาขยะมูลฝอย
โดยเฉพาะขยะพลาสติกและขยะทะเล จึงเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไข
ทั้งนี้ วช. เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการ Zero Waste ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยโครงการดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้หน่วยงาน สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาเพื่อขอรับทุนไปดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อตอบโจทย์ Zero Waste และเพื่อให้โครงการเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง จึงมีความร่วมมือจัดโครงการประกวดนวัตกรรมการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste Innovation Contest) ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านวิจัยและนวัตกรรมในโจทย์ที่ท้าทาย การแก้ไขปัญหา สร้างกลไก การบูรณาการ และส่งเสริมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับประชาชน ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัย รวมถึงการต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ
สำหรับโครงการประกวดนวัตกรรมการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ เกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ร่วมกับ วช. และ Thailand Friendly Design Expo 2021: มหกรรมอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 5 ซึ่งยังมีเป้าหมายเพื่อให้ผลงานจากนักวิจัยเป็นที่รู้จักและได้รับการต่อยอดในภาคธุรกิจ และนำไปสู่การปรับใช้ในวงกว้าง โดยจะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันนวัตกรรมแก้ปัญหาขยะทะเลในพื้นที่เทศบาลและพื้นที่ชายฝั่งทะเล และเชื่อมโยงนวัตกรรมกับชุมชน รวมถึงต่อยอดไปพัฒนาระดับธุรกิจหรือใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง
การประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ประเภทระบบรวบรวมและขนส่งขยะ ซึ่งคุณสมบัติผู้ส่งผลงานคือนักเรียน นิสิต นักศึกษา และมีสมาชิกอย่างน้อย 3 คน โดย 5 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบตัดสินจะได้รางวัลสนับสนุนผลงานละ 10,000 บาท และผู้ชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รางวัล 80,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ 2. ประเภทระบบการลดและกำจัดขยะ ซึ่งแบ่งการประกวดออกเป็น 2 พื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่ติดชายฝั่งทะเล และพื้นที่ทั่วไป ซึ่งคุณสมบัติผู้ส่งผลงานคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน หมู่บ้าน และส่งประกวดเป็นกลุ่ม โดย 5 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบตัดสินจะได้รางวัลสนับสนุนผลงานละ 10,000 บาท และผู้ชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดแต่ละพื้นที่เป้าหมายจะได้รับรางวัล 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำหรับการประกวดประเภทระบบรวบรวมและขนส่งขยะ เปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 - 20 กุมภาพันธ์ 2564 ประเภทระบบการลดและกำจัดขยะ เปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 – 15 มกราคม 2564 โดยทั้ง 2 ประเภทประกวดรอบตัดสิน ณ ไบเทค บางนา ในวันที่
4 เมษายน 2564
: ส่งผลงานได้ที่อีเมล : ZeroWasteInnovation@gmail.com
*** ติดตามข่าวการประกวด หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : Friendly Design
เว็บไซต์ www.ThailandFriendlyDesignThailand.com
Twitter : @ThailandFd
Instagram : Friendlydesignthailand
หรือ โทร. 081-855-1199 และ 081 562 9541