"เอกรัฐ" แบรนด์ดังชื่อเสียงดีการันตีมาตรฐานในระดับสากล ประกาศจุดยืนตอกย้ำความเป็นเบอร์หนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ามาตรฐาน มอก. และมาตรฐานระดับโลกจากประเทศเยอรมัน เพิ่มกำลังการผลิตรองรับการเติบโตโดยนำเข้าเทคโนโลยี เครื่องจักร และวัตถุดิบคุณภาพสูงจากเยอรมัน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยุโรป เพื่อการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้โดยทั่วถึง การันตีคุณภาพทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย กระทั่งเป็นที่เชื่อถือและได้รับการยอมรับ พร้อมแสดงศักยภาพด้วยการส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้โดยการบุกเบิกของ คุณเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ดีกรีวิศวกรรมไฟฟ้าจากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คร่ำหวอดอยู่บนถนนสายอุตสาหกรรมไฟฟ้ามานานกว่า 40 ปี เป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) เคยผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมาแล้วในยุคเฟื่องฟู และเป็นคนไทยคนแรกที่ออกแบบ เขียนแบบและนำเอาเทคโนโลยีจากยุโรปและอเมริกาเข้ามาใช้ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับ คุณดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) ขึ้นแท่นผู้บริหารอย่างเต็มตัว ซึ่งแน่นอนว่ากว่าจะนำพาบริษัทฯ มาได้จนถึงวันนี้ต้องแก้ปัญหาและฝ่าฟันอุปสรรคมาแล้วนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเจอกับพิษเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 อันเป็นเหตุให้ตัวเลขหนี้สินจากการกู้ธนาคารเพื่อต่อยอดทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวเนื่องจากผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินสกุลต่างประเทศในขณะนั้น
“ผมทำงานอยู่ในสายการเงินมาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อปี 2521 ที่ธนาคารกรุงเทพ ก่อนจะออกมาช่วยพี่ชายทำงานที่เอกรัฐ เมื่อปี 2532 ก็เข้ามาดูแลทางด้านการเงิน และเมื่อปี 2554 ก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นมาบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ก่อนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2549 ด้วยทุนจดทะเบียนในขณะนั้นเพียง 480 ล้าน”
นำทัพฝ่าวิกฤติ ตอกย้ำความสำคัญด้านนวัตกรรมและคุณภาพสินค้า
“วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ตรงกับช่วงที่บริษัทกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อต่อยอดทางธุรกิจและซื้อสำนักงานใหญ่ที่ตึกยูเอ็มเมื่อปี 2537 ซึ่งตอนนั้นเรากู้เงินสกุลต่างประเทศจำนวน 50 ล้านบาท เมื่อเกิดวิกฤตค่าเงินเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว เรามีหนี้เพิ่มขึ้นทันทีจากความผันผวนของค่าเงิน ประกอบกับยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าก็น้อยลง จากที่เคยขายได้ 100% กลายเป็นขายได้เพียงแค่ 30% ทำให้เราขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ให้แบงก์ได้ แต่เราก็ยังจ่ายดอกเบี้ยให้กับแบงก์ ในขณะที่ตอนนั้นแทบทุกบริษัทหยุดการชำระหนี้ไปแล้ว แต่เรายังจ่ายดอกเบี้ยจนนาทีสุดท้าย พยายามจ่ายต่อไปอีกถึง 6 เดือน กระทั่งจ่ายไม่ไหว ก็เจรจาปรับโครงสร้างหนี้”
“กระทั่งเมื่อปี 2546 เราก็เริ่มดีขึ้นเพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นหม้อแปลงไฟฟ้าก็จะขายได้ แล้วก็เอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2549 เพื่อระดมทุนมาทำโรงงานโซล่าเซลล์ ตอนนั้นได้เงินมาประมาณ 480 ล้าน เราผลิตโซล่าเซลล์โดยการก่อตั้ง บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโรงแรกในประเทศไทย และเราทำทั้งสองอย่างคือผลิตเซลล์ และทำแผงโซล่าร์เซลล์ด้วย เราก็มากู้เงินสร้างโรงงานเซลล์เพิ่มเพราะเงินแค่ 400-500 ล้านบาทที่ได้จากการระดมทุนนั้นก็ยังไม่พอ เราต้องลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาทในการที่จะทำโรงงานเซลล์ เป็นรายแรกของประเทศ เนื่องจากตอนนั้นเป็นช่วงของรัฐบาลคุณทักษิณ ซึ่งมีนโยบายแห่งชาติออกมาว่า ถ้าสร้างโรงไฟฟ้า 1 โรง ก็ต้องสร้างพลังงานทดแทน 5% เราก็ทำตาม แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นประชาธิปัตย์ก็ยกเลิกโครงการซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ก็เกิดผลกระทบ สินค้าจีนเข้ามาตีตลาด พอสร้างโรงงานเสร็จก็ขายไม่ได้ เพราะรัฐบาลใหม่ยกเลิกนโยบายสร้างพลังงานทดแทนไปแล้ว”
เอกรัฐวิศวกรรม โอบอุ้ม เอกรัฐโซล่าร์ ขึ้นแท่นครองอันดับ 1 ของประเทศเช่นเดียวกัน
“ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องแก้ปัญหาอีกครั้งเพราะมีหนี้ก้อนโตเกิดขึ้นอีกครั้งจากการกู้แบงก์มาสร้างโรงงานโซล่าเซลล์ เราชำระเฉพาะดอกเบี้ยมาตลอดระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นแบงก์ก็ไม่ยอมบอกว่าต้องจ่ายเงินต้นด้วย ก็เลยต้องขอปรับโครงสร้างการชำระหนี้เป็นครั้งที่ 2 เมื่อปี 2552 แล้วประคองตัวมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2556 สถานการณ์เริ่มดีขึ้น พอปี 2557 เราก็เริ่มกลับมาทำโซล่าเซลล์อีกครั้ง เราเริ่มชำระหนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2557 ชำระหนี้ปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งเราก็ทำได้ตามข้อตกลง โดยชำระดอกเบี้ยอยู่ที่เดือนละ 2 ล้านบาท ตอนนี้ก็เหลือหนี้อยู่ประมาณ 290 กว่าล้านบาท แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปเพราะหลักทรัพย์ของบริษัทฯ มีมากกว่านั้น และหลังจากที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ก็มีผู้ผลิตโซล่าเซลล์เพิ่มขึ้นมาอีก 3 ราย ทางกรมบัญชีกลางซึ่งเข้ามาดูแลในเรื่องนี้แทนสำนักนายกฯ ได้ออกหนังสือถึงทุกหน่วยงานว่าต้องซื้อของในประเทศที่ได้ มอก. แล้วเท่านั้น ตามระเบียบสำนักนายก ถ้ามีการซื้อโซล่าเซลล์ต้องซื้อของที่ผลิตในประเทศเท่านั้น ตอนนี้รวมแล้วก็มี 4 ราย และ เอกรัฐโซล่าร์ ก็เป็นหนึ่งในสองของผู้ผลิตโซล่าเซลล์รายใหญ่ของประเทศ โดยในปีนี้เราตั้งเป้าสำหรับยอดขายอยู่ที่ประมาณ 3,400 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากหม้อแปลงไฟฟ้า 2,200 ล้านบาท โซล่าเซลล์ 1,200 ล้านบาท”
เน้นหลักคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ใส่ใจดูแลพนักงาน พร้อมรักษาประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น
“โดยส่วนตัวเรายึดหลักต้องมีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ ถ้าเกี่ยวกับองค์กรเราต้องรักษาประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น รองลงมาคือต้องให้ลูกค้าพึงพอใจ รักษาคุณภาพ เพราะเอกรัฐเป็นรายเดียวที่เหนือความคาดหมาย รับประกัน 10 ปี ซึ่งไม่มีเจ้าไหนทำได้ ที่อื่นรับประกัน 2 ปี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรามีบริการ 24 ชั่วโมง มีปัญหาโทรฯ ได้ทันที ทางด้านสังคม เราจะดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชนรอบข้างเราใส่ใจ มีการสอบถามเข้าถึงกันตลอดเวลา ถ้ามีปัญหาก็รีบแก้ไขทันที สำหรับเรื่องพนักงาน เราก็ต้องดูแลให้มีความสุข สวัสดิการต่างๆ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นหลักการที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด”
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน คุณเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ยังคงให้คำปรึกษาและดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของ บมจ. เอกรัฐวิศวกรรม ขณะที่ได้ไปลงทุนทำธุรกิจหม้อแปลงโดยถือหุ้น 100% ในประเทศเนปาลมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 10 ปี อีกทั้งยังมองไกลนำธุรกิจของ บมจ. เอกรัฐวิศกรรม เข้าร่วมหุ้นกับรัฐบาลพม่าเพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดประตู AEC มาระยะหนึ่งแล้ว ที่สำคัญที่สุด “เอกรัฐ” ยังคงยืนหยัดถึงความเป็นบริษัทสายเลือดไทย ประกาศชัดว่าแม้จะเปิด AEC แล้วก็จะยังคงงานบริหารและสายวิศวสงวนสิทธิ์ไว้ให้สำหรับคนไทยเท่านั้น พนักงานต่างชาติที่มีเข้ามาเสริมจะเป็นระดับแรงงานเพียงบางส่วน และปัจจุบันบริษัทฯ ได้เข้าถือครองตลาดย่านเอเชียได้ทั้งหมดแล้ว และยังมีฐานลูกค้าและพันธมิตรที่แข็งแกร่งในยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลางอีกด้วย