หากเอ่ยชื่อไปอาจไม่คุ้นเท่าเห็นหน้าตา มด-ศรีสมร มณีรัตน์ เจ้าของนามปากกา“แปะเกี้ย” ซึ่งวันนี้เจ้าตัวใช้ชีวิตอยู่อเมริกามาตลอดระยะเวลาเกือบสี่สิบปี และเป็นลูกสาวคนจีนผืนแผ่นดินใหญ่คนหนึ่ง ที่ชอบเรื่องความเป็นคนจีนอย่างสุดหัวใจ ได้ฝากผลงานล่าสุด“คิดถึงเตี่ย” ที่ถ่ายทอดสิ่งที่เตี๋ยพร่ำสอนจนได้ช่วยเหลือผู้คน และกำลังจะมีผลงานใหม่อีก 3 เรื่อง ใครที่เป็นแฟนคลับห้ามพลาด โดยมด-ศรีสมรเผยอย่างหมดเปลือก
“ปัจจุบันเขียนหนังสืออย่างเดียว แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเกิดจากความต้องการที่จะเขียนเรื่องของ เตี่ย ผู้มีความรู้ในเรื่องการอ่าน นรลักษณ์ และ เป็นคนที่ชอบอ่าน และชอบเขียนหนังสืออยู่แล้ว จึงได้เขียนเรื่อง เดินกับเตี่ย ขึ้นมา แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มแรกเป็นหนังสือชื่อว่า Messages Found With The Carving Knife ซึ่งเป็นหนังสือภาพแกะสลักผักผลไม้ที่แกะเอง โดยมีคำอธิบายในแง่ของปรัชญาชีวิตที่เทียบเคียงกับการแกะสลัก และ ปรัชญาชีวิตที่ได้จากการสอนการแกะสลักผักผลไม้ให้แก่ชาวอเมริกัน หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Amazon.com จำหน่ายในประเทศอเมริกาโดยสำนักพิมพ์นี้ และจำหน่ายในประเทศอื่นๆทางยุโรปโดย Abilis โดยหนังสือเล่มแรก Messages Found With The Carving Knife เป็นหนังสือที่ได้รับการคัดเลือกให้เก็บไว้ในห้องสมุดของสภาคองเกรชในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเลือกเก็บหนังสือที่มีคุณค่าเท่านั้น ใช้นามปากกาว่า Pam Maneeratana
ส่วนหนังสือเล่มแรกที่ตีพิมพ์ในเมืองไทย ชื่อว่า เดินกับเตี่ย ตีพิมพ์และจำหน่ายโดย บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) เป็นการเล่าเรื่องที่พ่อผู้มีความรู้เรื่องการอ่านนรลักษณ์ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกสาวผ่านการพูดคุยกันในระหว่างเดินออกกำลังกาย นามปากกาที่ใช้คือ แปะเกี้ย และที่ใช้นามปากกานี้ก็เพราะ แปะเกี้ย เป็นชื่อภาษาจีนที่เตี่ยเป็นคนตั้งและเรียก แปะเกี้ย แปลว่า ลูกขาว เพราะเป็นลูกสาวที่มีผิวพรรณขาวที่สุดในจำนวนลูกสาวทั้งสี่คนของเตี่ย เขียนหนังสือมาได้ห้าปี มีทั้งหมด 5 เล่มคือ Messages Found With The Carving Knife, เดินกับเตี่ย, ชีวิต…ต้นไม้ในสวน, เรไร และ คิดถึงเตี่ย หนังสือที่สร้างชื่อมากน่าจะเป็น เดินกับเตี่ย เป็นหนังสือที่เตี่ยสอนลูกสาวให้อ่านนรลักษณ์ แรงบันดาลใจในแต่ละเล่ม จะเกิดขึ้นกับชีวิตของตัวเองทั้งนั้นอย่างเรื่อง เดินกับเตี่ย และ คิดถึงเตี่ย เกิดจากเตี่ยที่ได้พยายามสอนการอ่านนรลักษณ์ และตัวเองได้อ่านนรลักษณ์ให้กับคนอื่นๆ ซึ่งผลจากการอ่านนั้นทำให้ผู้อ่านได้รับบทเรียนชีวิต และได้รู้จักที่จะเลือกอ่านให้กับบางคน และไม่อ่านให้กับบางคน การเขียนเรื่อง เดินกับเตี่ย เปรียบเสมือนการเดินถอยกลับเข้าไปในเหตุการณ์ครั้งนั้นอีก เมื่อต้องเขียนถึงบางตอน ก็เขียนด้วยความระลึกรู้ถึงความรักของเตี่ยที่มีต่อตัวเอง บางครั้งก็เขียนไปน้ำตาไหลไป จนทุกวันนี้ยามหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านคอก็ตีบตันไปเสียทุกครั้ง , ชีวิต…ต้นไม้ในสวน เป็นเรื่องชีวิตของคนถึง 15 ชีวิต ที่เขาเหล่านั้นได้จากเมืองไทยไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอเมริกา ชีวิตของแต่ละคนต่างกันออกไป แต่ละคนต่างมีชีวิตที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง จึงได้นำมาถ่ายทอดให้ฟัง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คนทั่วไปได้รู้ว่าการไปอยู่เมืองนอกนั้น บางชีวิตเขาต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง และเขาได้แก้ปัญหาของเขาด้วยวิธีไหน, เรไร เรื่องของลูกพี่ลูกน้อง ผู้เป็นลูกสาวของน้าสาว ผู้เขียนได้เห็นชีวิตของเรไร และเป็นส่วนประกอบในชีวิตของเขาตั้งแต่เขาอายุได้สามขวบจนถึงวันที่เขาตัดสินใจกินยาตาย เขาได้เคยขอให้ผู้เขียน เขียนเรื่องของเขาออกมาให้คนอ่าน เพราะเขาไม่อยากให้มีใครต้องประสพกับปัญหาชีวิตดั่งที่เขาเป็นอยู่ แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยเขียนจนกระทั่งเขาจากไปแล้ว และวันหนึ่งเหมือนกับว่า เขาได้มาทวงคำสัญญาว่าจะเขียนเรื่องของเขา จึงได้นั่งเขียน เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เขียนจบแล้วไม่กล้าอ่านทวน เพราะในขณะที่เขียนบางตอน ก็ต้องหยุดร้องไห้ไปด้วย ซึ่งหลายคนเขียนมาขอบคุณที่เขียนหนังสือดีๆมีความรู้ด้วยการเขียนแบบภาษาง่ายๆให้เขาได้อ่าน บางคนก็บอกว่า ทุกครั้งเมื่อซื้อหนังสือมาอ่านแล้วก็จะเอาหนังสือไปบริจาคให้กับห้องสมุด แต่หนังสือทุกเล่มที่ผู้เขียนเขียนนี้ เขาจะขอเก็บเอาไว้ให้ลูกสาวคนเล็กได้อ่าน บางคนก็เขียนมาบอกว่า“หนูเป็นเรไรคนหนึ่ง ไม่เคยคิดเลยว่า จะมีใครที่มีชีวิตเหมือนกับหนู ขอบคุณคุณป้าที่เขียนเรไรขึ้นมา” คนที่สนใจเรื่องการอ่านนรลักษณ์ ก็มักจะเขียนมาขอบคุณในองค์ความรู้ที่เราเขียนลงไป แต่ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังสือทุกเล่ม เป็นหนังสือที่อ่านแล้ววางไม่ลง ต้องอ่านต่อไปจนจบ คิดว่าเสน่ห์ของงานเขียนนั้นอยู่ที่สไตล์การเขียน ที่เขียนเหมือนเรื่องเล่า โดยใช้ภาษาง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน คนอ่านสามารถติดตามต่อได้อย่างไม่ต้องคิดซ้ำว่า ผู้เขียนอยากให้แปลว่าอย่างไร หนังสือทุกเล่ม เมื่ออ่านจบ ก็จะรู้สึกอิ่ม และเข้าใจให้สารที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบ
หนังสือเล่มล่าสุด คือ คิดถึงเตี่ย เป็นหนังสือว่าด้วยบทเรียนการอ่านนรลักษณ์ที่เตี่ยได้เคยสอนให้ลูกสาว ได้นำบทเรียนนั้นมาอ่านให้กับคนที่เธอได้มีโอกาสพบเห็น มีการเทียบเคียงและอธิบายที่มาที่ไปจากคำสอนของเตี่ย แต่ละเคส ก็คือแต่ละเรื่องราวของการอ่าน และ ผลข้างเคียงที่ได้เกิดขึ้น พร้อมกับการรำลึกถึงคำสอนของเตี่ยต่อคำถามที่คนมักถามกันมา เช่น การทำศัลยกรรมบนใบหน้า จะมีผลต่อนรลักษณ์หรือไม่ หรือ ถ้าหน้าตาเปลี่ยนไป นรลักษณ์จะเปลี่ยนหรือเปล่า หากแฟนคลับอยากติดตามก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้ในเฟสบุ้ค ใช้ชื่อเฟสว่า ศรีสมร มณีรัตน์ บนเฟส ผู้เขียนมักจะมีแบบฝึกหัดมาให้แฟนคลับลองตอบในเรื่องการอ่านนรลักษณ์ และบางครั้งก็อาจจะมีการอ่านนรลักษณ์ของแฟนคลับบ้าง สำหรับหนังสือเล่มใหม่ที่กำลังส่งให้ทางสำนักพิมพ์พิจารณาคือ หนังสือแปลจากหนังสือที่ได้รับรางวัลโนเบล แต่งโดย Pearl S. Buck ชื่อว่า The Good Earth หนังสือเล่มนี้เคยได้รับการแปลจาก สันตสิริ ตั้งชื่อเรื่องว่า ทรัพย์ในดิน แต่ศรีสมร ตั้งใหม่ว่า “ผืนแผ่นดิน” อีกเรื่องคือ “เตี่ยว่าไว้” เป็นเรื่องเกี่ยวกับนรลักษณ์ที่ต่อเนื่องจาก เดินกับเตี่ย และ คิดถึงเตี่ย และเรื่อง “พระบุญสม” ที่จำพรรษาอยู่ในสวนสัก เป็นพระผู้มีความรู้ในการอ่านนรลักษณ์ แต่ละตอนที่ผูกขึ้น เป็นการอธิบายการอ่านนรลักษณ์ที่พระบุญสม ได้พูดให้น้าแกละผู้เป็นโยมอุปฐากได้ฟัง เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการได้เข้าไปสัมผัสกับชีวิตของพระรูปหนึ่ง ที่ลาออกจากราชการตั้งแต่ยังหนุ่ม และตั้งใจที่จะบวชไปตลอดชีวิต ขอฝากผลงานด้วยค่ะ(ยิ้ม)”
เฉลยคำถามผลงาน“ซ่อนกลิ่น”ชุด“ดวงใจเทวพรหม”: ลออจันทร์
คำถามผลงานล่าสุดของ“แปะเกี้ย”เรื่องอะไร?
ทราบคำตอบเขียนชื่อ - ที่อยู่และคำตอบ ลงไปรษณียบัตรส่งมาที่ เปิดหน้านักเขียน 32/15 ซ.ลาดพร้าว 23 แขวง จันทรเกษม เขต จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 ผู้ตอบถูก 3 ท่านจะได้รับหนังสือนิยายจาก สยามอินเตอร์ (ขอบคุณที่สนับสนุนของรางวัล)